ผ่าคลอดแบบบล็อคหลัง หรือ ดมยาสลบ ดีนะ?
คุณแม่ตั้งครรภ์ใกล้คลอด ส่วนใหญ่ก็คงจะเตรียมหาข้อมูลสำหรับการคลอดกันไว้ล่วงหน้า เพื่อหาวิธีคลอดที่ดีและปลอดภัยที่สุดสำหรับลูกน้อยและตัวคุณแม่เอง ซึ่งวิธีการคลอดลูกที่ปลอดภัยสำหรับคุณแม่และลูกน้อยมากที่สุด ก็คือ การคลอดแบบธรรมชาติ แต่หากคุณแม่ไม่สามารถคลอดแบบธรรมชาติได้เอง จำเป็นที่จะต้องใช้การผ่าคลอดทางหน้าท้องเข้ามาช่วย
การผ่าคลอดทางหน้าท้อง ในปัจจุบันนับว่ามีความปลอดภัยมาก และช่วยให้เด็กที่คลอดออกมาไม่บอบช้ำ แต่ทำให้คุณแม่ต้องมีบาดแผลในช่องท้องและหน้าท้อง ความยาวประมาณ 10 ซม. ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตหลังคลอดอยู่มาก
การผ่าคลอดทางหน้าท้องนั้นแพทย์จะทำได้ต่อเมื่อคุณแม่สลบ หรือไม่มีความรู้สึกบริเวณที่จะทำการผ่าตัดแล้ว โดยจะใช้การวางยาสลบ หรือบล็อคหลัง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยว่า จะต้องใช้วิธีการใด ๆ กับคุณแม่ในการผ่าคลอดค่ะ
การผ่าคลอดโดยการใช้ยาสลบ
ผ่าคลอดโดยการวางยาสลบ วิสัญญีแพทย์จะทำให้คุณแม่สลบโดยการฉีดยานำสลบเข้าไปในหลอดเลือดดำ จากนั้นจะให้ ยาหย่อนกล้ามเนื้อ เพื่อให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายเป็นอัมพาต แล้วจะสอดท่อช่วยหายใจ ผ่านปาก เข้าไปผ่านกล่องเสียง และเข้าไปอยู่ในหลอดลม เพื่อที่จะช่วยหายใจในระหว่างผ่าตัด เพราะระหว่างผ่าตัดนั้น กล้ามเนื้อทั่วร่างกายจะเป็นอัมพาตจากยาหย่อนกล้ามเนื้อ ทำให้หายใจเองไม่ได้
ผ่าคลอดโดยการดมยาสลบ จะอาศัยยาหลายตัว เช่น ยานำสลบ ยาหย่อนกล้ามเนื้อ ยาแก้ปวด ยาดมสลบในรูปของไอระเหย เมื่อสิ้นสุดการผ่าตัด วิสัญญีแพทย์จะให้ยาแก้ฤทธิ์ยาหย่อนกล้ามเนื้อ และรอคอยให้ยาดมสลบหมดฤทธิ์ คุณแม่จะค่อย ๆ ฟื้นคืนสติ และเริ่มหายใจเอง จากนั้นวิสัญญีแพทย์จะถอดท่อช่วยหายใจออกมาจากหลอดลม
การผ่าคลอดด้วยการดมยา ปกติจะเลือกใช้ในกรณีที่อาจมีการผ่าตัดนานกว่า 2-3 ชั่วโมง พอผ่าคลอดเสร็จต้องผ่าตัดอะไรเพิ่มเติม เช่น ผ่าซีสต์ออก ผ่าก้อนเนื้องอกออกต่อ เป็นต้น ในโรงพยาบาลรัฐที่วิสัญญีแพทย์ขาดแคลนอาจเป็นวิสัญญีพยาบาลทำการดมยาสลบให้ได้ ถ้าแม่หรือลูกอยู่ในภาวะเร่งด่วนที่ต้องผ่าคลอดทันที ก็ต้องดมยาสลบเท่านั้น
ข้อดีของการผ่าคลอดด้วยการดมยาสลบ
คุณแม่จะไม่รู้สึกตัว ในระหว่างที่ทำการผ่าตัดคลอด ตัดความกลัวและความเครียดไปได้เลย และวิสัญญีแพทย์ยังสามารถควบคุมการหายใจ และระบบไหลเวียนได้เอง
ข้อเสียของการผ่าคลอดด้วยการดมยาสลบ
คุณแม่จะยังไม่ได้เห็นหน้าลูกทันที เพราะว่ายังสลบอยู่ ไม่รู้สึกตัว หลังผ่าตัดพอตื่นแล้วคุณแม่จะปวดแผลทันที แต่หมอก็มียาแก้ปวดให้เช่นกัน คุณแม่อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนจากฤทธิ์ยาได้ อาจเจ็บคอเพราะมีการใส่ท่อช่วยหายใจลงไปหาขั้วปอดคอยควบคุมการหายใจขณะสลบอยู่ และหากแพทย์ต้องใช้เวลานานในการนำลูกออกมาจากท้อง ยาสลบก็มีผลทำให้ลูกสลบไปด้วยเช่นกัน ลูกอาจไม่มีอาการตอบสนองใดๆทันทีหลังคลอดในชั่วระยะเวลาหนึ่ง ทำให้การประเมินหลังคลอดทำได้ช้าลง
การผ่าคลอดโดยการบล็อคหลัง
ผ่าคลอดด้วยการบล็อคหลัง เป็นการฉีดยาชาเข้าไปในช่องน้ำบริเวณไขสันหลัง โดยแพทย์จะให้คุณแม่ตั้งครรภ์นอนตะแคงและโก่งตัว ให้หน้าผากใกล้หัวเข่ามากที่สุด ราวกับว่าเป็นกุ้ง เพื่อที่จะให้ช่องระหว่างกระดูกสันหลังเปิดกว้างที่สุด วิสัญญีแพทย์จะทำการฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณผิวหนังที่จะฉีดยา เพื่อลดอาการเจ็บในขณะที่แทงเข็มที่จะใช้ทำการบล็อค แต่สำหรับวิสัญญีแพทย์ที่มีความชำนาญบางท่าน อาจจะเลือกที่จะแทงเข็มบล็อคไปในทีเดียว ไม่ฉีดยาชาก่อน เพราะว่าเจ็บเพียงครั้งเดียวเหมือนๆกัน นอกจากนั้น เข็มที่ใช้ในการบล็อกจะมีขนาดที่เล็กมาก ทำให้บางครั้ง เจ็บน้อยกว่าการแทงน้ำเกลือ หรือ เจาะเลือดด้วยซ้ำไป คุณแม่จะมีอาการชาบริเวณร่างกายส่วนล่างนับจากเอวลงไปทันที แต่จะรับรู้ทุกอย่าง ยกเว้นบางราย ที่แพทย์อาจให้ยานอนหลับร่วมด้วย จึงจะมีอาการสลึมสะลือ กึ่งหลับกึ่งตื่น
ข้อดีของการผ่าคลอดด้วยการบล็อคหลัง
สะดวก รวดเร็ว คุณแม่จะรู้สึกตัวตลอดขณะทำการผ่าตัดคลอด พูดคุยโต้ตอบได้ พอหลังคลอดก็จะได้เห็นหน้าลูกเลยค่ะ แล้วหลังผ่าคลอดจะไม่เจ็บแผลทันที เพราะฤทธิ์ยาชายังไม่หมดไป อาจจะเจ็บหลังบล็อคไปแล้วประมาณ 16 ชั่วโมงโดยประมาณ แต่พอถึงตอนนั้นหมอก็จะมียาแก้ปวดให้เพิ่มอยู่แล้ว
ข้อเสียของการผ่าคลอดด้วยการบล็อคหลัง
ยาชาจะหมดฤทธิ์ 2-4 ชั่วโมงหลังผ่าคลอด ทำให้คุณแม่รู้สึกรำคาญ เพราะร่างกายท่อนล่างที่เคลื่อนไหวไม่ได้ และอาจมีอาการปวดหลัง เมื่อยหลัง อาเจียน หรือคันตัว ร่วมด้วย
ในการเลือกใช้วิธีการใด ๆ ในการผ่าคลอด ไม่ว่าจะเป็นการผ่าคลอดด้วยการวางยาสลบ หรือ ผ่าคลอดแบบบล็อกหลังนั้น คุณแม่จะต้องทำการงดน้ำงดอาหารมาล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอาการสำลักเศษอาหารที่อาจเกิดขึ้นได้ และขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เป็นสำคัญ โดยแพทย์จะประเมินตามความเหมาะสมเพื่อให้แม่และลูกมีความปลอดภัยมากที่สุดนะคะ
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ