อาการซึมเศร้าหลังคลอด คืออะไร
ร้อยละ 25 ของคุณแม่มือใหม่ มีโอกาสพบกับ อาการซึมเศร้าหลังคลอดได้ค่ะ ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ในระหว่างที่ตั้งครรภ์จะมีฮอร์โมนเพศหญิงที่เรียกว่าเอสโตรเจนกับโปรเจสเตอโรนสูงมาก แต่พอคลอดลูก ฮอร์โมนทั้งสองตัวนี้จะลดต่ำลงไปทันทีส่งผลให้เกิด อาการซึมเศร้าหลังคลอดได้
อาการซึมเศร้าหลังคลอด แบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ
- ภาวะอารมณ์เศร้าหลังคลอด (Postpartum blues : PPB)
- โรคซึมเศร้าหลังคลอด (Postpartum depression : PPD)
- โรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis : PPP)
อาการซึมเศร้าหลังคลอด มีลักษณะดังนี้
ในผู้หญิงบางคนที่มีอารมณ์อ่อนไหวง่าย จะมีอาการมาก โดยแสดงออกมาในรูปของทางจิตประสาทหลอนๆ ซึมเศร้า เก็บตัว ร้องไห้ไม่มีเหตุผล กังวล มองโลกในแง่ร้าย หรือในบางรายอาจเป็นหนักถึงขั้นทำร้ายตัวเองหรืออยากฆ่าตัวตาย
ซึ่งอาการเหล่านี้คนรอบข้างจะสังเกตได้จากอาการซึม ไม่ร่าเริง สีหน้าเศร้า ๆ เหงา ๆ อาการซึมเศร้าหลังคลอดจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 6 สัปดาห์ค่ะ อาการซึมเศร้าเหล่านี้อาจไม่มีผลต่อลูกโดยตรง แต่อาจทำให้ลูกได้รับการดูแลไม่ดีเท่าที่ควร
อาการซึมเศร้าหลังคลอด รับมืออย่างไร
วิธีการรับมือกับอาการซึมเศร้าหลังคลอดนั้น ทำไม่ยากค่ะ คุณพ่อและคนรอบข้างสามารถช่วยคุณแม่ให้พ้นจากอาการซึมเศร้าหลังคลอดนี้ได้ โดยการให้กำลังใจ ดูแลเอาใส่ใจ ช่วยเลี้ยงลูก แบ่งเบาภาระในการดูแลลูกบ้าง หาอาหารดีๆมาบำรุงคุณแม่ พูดคุยในเรื่องที่จะทำให้คุณแม่คลายความเครียดได้ และที่สำคัญต้องไม่สร้างความกดดันให้คุณแม่ค่ะ
เมื่อตกอยู่ในอาการซึมเศร้าหลังคลอด ควรทำอย่างไร
การปฏิบัติตัวของคุณแม่เมื่อรู้ตัวว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้น ต้องรีบแก้ไขอย่าเก็บความรู้สึกไว้คนเดียว พูดคุยกับคุณพ่อ เพื่อนสนิท ญาติ หรือคุณแม่คนอื่นๆ บ้าง เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ อย่าพยายามทำสิ่งต่างๆ มากเกินไปในแต่ละวัน ยอมรับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง หาเวลาพักผ่อน อย่ารู้สึกผิดที่รู้สึกซึมเศร้า
แต่หากคุณแม่มีอาการซึมเศร้าหลังคลอดรุนแรงหรือโรคจิตหลังคลอด (Postpartum psychosis : PPP) ต้องรีบพบจิตแพทย์เพื่อให้การดูแลเป็นพิเศษนะคะ อาจต้องใช้ยาต้านซึมเศร้าหรือยานอนหลับ เพื่อให้กลับมาเป็นปกติได้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ค่ะ
image:ChameleonsEye / Shutterstock.com
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ