เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์ก้าวเข้าสู่ไตรมาสที่สาม หรือในช่วง 7 – 9 เดือน ท้องของคุณแม่จะขยายใหญ่โต โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่เดือนที่ 9 ซึ่งเป็นเดือนสุดท้าย ท้ายสุดสำหรับการตั้งครรภ์ ทั้งคุณพ่อและคุณแม่คงตั้งตารอเจ้าตัวน้อยให้ถึงวันกำหนดคลอดเร็ว ๆ เพราะอยากเห็นหน้า อยากอุ้มลูกน้อยเต็มที่แล้ว แต่ถึงอย่างไรก็แอบกังวลเล็ก ๆ เกี่ยวกับอาการต่าง ๆ ในช่วงใกล้คลอด เพราะไม่รู้ว่าแบบนี้จะเป็นอาการปกติหรือไม่ ไหนจะเจ็บท้องคลอดอีก ไม่รู้ว่าเจ็บจริงหรือเจ็บเตือน มาดูกันค่ะว่าอาการใกล้คลอดนั้นเป็นอย่างไร ศึกษาไว้เพื่อให้คลายกังวลนะคะแม่ท้อง
ชวนแม่ท้อง สังเกตอาการครบกำหนดคลอด
ในช่วงเดือนที่ 9 เมื่อใกล้ถึงกำหนดคลอด ร่างกายของคุณแม่จะมีการเตรียมความพร้อมตามธรรมชาติเพื่อการคลอดที่ใกล้จะมาถึง ทำให้มีอาการบางอย่างเกิดขึ้น ซึ่งถือว่าอาการเหล่านี้เป็นอาการปกติ ไม่มีอะไรน่ากังวลนะคะ อาการที่จะเกิดขึ้นมีดังนี้ค่ะ
1.รู้สึกเจ็บแปลบบริเวณช่องคลอด เหมือนมีอะไรมากดทับอยู่บริเวณช่องคลอด อาการนี้เกิดจากทารกน้อยในครรภ์เริ่มกลับตัว และศีรษะของเจ้าตัวเล็กเคลื่อนลงมาอยู่ในบริเวณอุ้งเชิงกราน มดลูกจะคล้อยต่ำลงทำให้คุณแม่รู้สึกสบายตัวขึ้นและหายใจได้คล่องขึ้น
2.มดลูกจะเกิดการบีบรัดตัวแรงขึ้นและบ่อยขึ้น ทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บท้องซึ่งอาการนี้ของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป คุณแม่บางคนจะมีอาการเจ็บเช่นนี้อยู่หลายวันจึงคลอด บางคนก็คลอดในเวลาไม่นาน
3.มีมูกเลือดไหลออกมาจากปากช่องคลอด เนื่องจากใกล้คลอด ปากมดลูกจะบาง และเปิดออก ทำให้มูกที่อยู่ภายในไหลออกมา
4.มีอาการท้องเสียในช่วง 2 – 3 วันก่อนคลอด เนื่องจากในช่วงเวลาก่อนคลอด ร่างกายจะหลั่งสารชนิหนึ่งออกมาทำให้มดลูกบีบตัวและเกิดอาการท้องเสียหรือท้องร่วงได้
เจ็บท้องเตือน VS เจ็บท้องจริง
เจ็บท้องเตือน
- เมื่อใกล้กำหนดคลอด มดลูกจะมีการแข็งตัวระยะสั้น ๆ ไม่สม่ำเสมอ และไม่มีอาการเจ็บท้อง เพียงแต่จะรู้สึกแน่น ๆ หน่วง ๆ
- อาการเช่นนี้มักจะเกิดในเวลากลางคืน เวลาพลิกตัว หรือพยุงตัวลุกขึ้นนั่ง แต่เมื่อนั่งไปแล้วสักพัก อาการดังกล่าวจะค่อย ๆ บรรเทาเบาบางลงค่ะ
- แม้จะมีอาการเจ็บหน่วงเกิดขึ้นบ้าง แต่จะไม่มีมูกเลือดหรือน้ำใส ๆ คล้ายปัสสาวะไหลออกมาทางช่องคลอดนะคะ
- ลักษณะการเจ็บท้องจะเจ็บจากหน้าท้องร้าวไปบั้นเอวด้านหลัง คล้ายปวดประจำเดือนค่ะ
เจ็บท้องจริง
- มดลูกจะแข็งตัวบ่อยครั้งเป็นจังหวะสม่ำเสมอ ประมาณ 10 นาที จะเจ็บอย่างน้อย 1 ครั้ง และเจ็บมากขึ้น บ่อยขึ้นทุก ๆ 3 – 5 นาที เจ็บแต่ละครั้งนาน 35 -45 วินาที คุณแม่บางคนอาจเจ็บร้าวไปที่ขาด้านหลัง
- อาการเจ็บจะไม่หายแม้จะนอนพัก นั่งพักแล้วก็ตาม แต่จะเจ็บขึ้นเรื่อย ๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอ
- มีมูกเลือดหรือน้ำใส ๆ คล้ายน้ำปัสสาวะไหลออกมาจากปากช่องคลอดเรียกว่า “น้ำเดิน”
- ลักษณะการเจ็บจะเจ็บจากบั้นเอวร้าวมาที่หน้าท้อง
จะเห็นว่า กระบวนการคลอดในแต่ละครั้งใช้เวลาค่อนข้างนานและมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย ดังนั้น ช่วงก่อนคลอดโดยเฉพาะในไตรมาสสุดท้าย คุณแม่พยายามหาเวลาพักผ่อนให้มากที่สุด และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอย่าให้เกิดอาการเจ็บปวด ปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้เพราะจะทำให้คุณแม่ไม่มีเรี่ยวแรงสำหรับการคลอดที่ใกล้จะมาถึงนะคะ
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ