ในช่วงไตรมาสที่สาม ซึ่งเป็นช่วงท้ายสุดของการตั้งครรภ์ ยิ่งใกล้ถึงวันคลอดเข้ามาเท่าไร คุณแม่แทบจะร้อยทั้งร้อย อดประหวั่นพรั่นพรึงไม่ได้ แม้อีกใจก็อยากพบหน้าลูกน้อยใจจะขาดก็ตาม บทความนี้อาจทำให้คุณแม่รู้สึกกลัวหรือไม่สบายใจซึ่งไม่ใช่เจตนาของผู้เขียนนะคะ เพียงแต่บทความเกี่ยวกับการคลอดยากนั้น เพื่อให้คุณแม่ได้ศึกษาหรือมีความรู้ไว้บ้างเท่านั้นค่ะ มาดูกันว่าสาเหตุที่ทำให้คุณแม่คลอดยากนั้นมีอะไรบ้าง
7 เหตุการณ์ที่ส่งผลให้ แม่ท้องคลอดยาก
1.ลูกตัวใหญ่มากกว่าปกติ
ลูกในท้องตัวใหญ่ จะทำให้คุณแม่ทรมานจากการเจ็บครรภ์คลอดที่ยาวนาน เมื่อคลอดออกมาทางช่องคลอดอาจทำให้ช่องคลอดฉีกขาดได้ ดังนั้น อาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่วยคลอดลูก เช่น ใช้คีมคีบศีรษะ หรือใช้เครื่องดูดสุญญากาศดูดออกมา
2.คลอดลูกท่าก้น
คลอดลูกท่าก้น คือ ทารกน้อยเอาก้นนำออกมาก่อน หรือ เอาขาออกมาก่อนแทนที่จะคลอดปกติที่เอาส่วนศีรษะออกมาก่อน การคลอดท่าก้นเสี่ยงต่อการคลอดที่ติดขัดโดยเฉพาะส่วนศีรษะของลูกอาจถูกปากมดลูกรัดไว้จนคลอดออกมาไม่ได้ ซึ่งถ้าปล่อยไว้นานเพียง 5 นาที ลูกก็อาจเสียชีวิต ส่วนใหญ่หากเด็กออกมาในท่าก้นหรือไม่ได้ใช้ศีรษะเป็นส่วนนำมักจะต้องผ่าตัดคลอดเพื่อความปลอดภัยของทารกนั่นเอง
3.คุณแม่มีเชิงกรานแคบ
เพราะคุณแม่ที่มีโครงสร้างค่อนข้างเล็ก หรือตัวเล็ก ทำให้ทารกเคลื่อนลงไปในช่องเชิงกรานไม่ได้ ถ้าปล่อยให้เจ็บคลอดคุณแม่จะเจ็บครรภ์ทรมานยาวนานเกินไปจนเกิดอันตรายกับคุณแม่และทารกได้ คุณหมอจึงมักต้องผ่าตัดคลอด ซึ่งในช่วงใกล้คลอดคุณหมอจะทำการประเมินอีกครั้งว่าทารกอยู่ในท่าเตรียมพร้อมหรือไม่ ขนาดตัวของทารกสัมพันธ์กับช่องคลอด คือ สามารถคลอดเองได้หรือไม่
4.มดลูกหดรัดตัวไม่ดี
ส่วนใหญ่มักพบในคุณแม่ที่มีอายุมาก หรือเคยคลอดมาหลายครั้ง แล้วทำให้กล้ามเนื้อมดลูกรัดหดตัวไม่ดี ส่งผลทำให้การเจ็บครรภ์คลอดยาวนาน อาจเกิดอันตรายได้ทั้งคุณแม่และทารก กรณีนี้หากไม่ผ่าตัดคลอดคุณหมอจะให้ยาเพื่อช่วยให้มดลูกหดรัดตัวดีขึ้นเพื่อให้สามารถคลอดเองได้
5.สายสะดือพันคอ
โดยปกติสายสะดือจะยาว 50 เซนติเมตร บางคนก็สั้นกว่านั้น ในขณะที่บางคนอาจยาวถึง 100 เซนติเมตร การที่สายสะดือยาวมาก ๆ ตอนแรกมักไม่เกิดปัญหาอะไร แต่เมื่อถึงช่วงใกล้คลอดทารกอาจมีการหมุนตัวทำให้สายสะดือไปพันหรือรัดที่ตัวทารกได้ ถ้าเป็นการรัดที่บริเวณคอจะเสี่ยงอันตรายมากเพราะทารกอาจเสียชีวิตได้
6.สายสะดือย้อย
สายสะดือย้อย คือ สายสะดือที่ยาวมาก เมื่อปากมดลูกเปิดและถุงน้ำคร่ำแตก สายสะดือเด็กก็อาจจะไหลลงมาในช่องคลอด อาจถูกหัวทารกกดทับทำให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายทารกได้และทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาอันสั้น ถ้าแพทย์ตรวจพบสายสะดือย้อยควรรีบผ่าตัดคลอดทันที ซึ่งถ้าทำไม่ทัน ทารกก็มักเสียชีวิต อย่างไรก็ตามปัญหานี้จะพบได้น้อยมาก
7.รกไม่ยอมคลอดหรือรกค้าง
โดยปกติแล้ว รก จะคลอดมาตามหลังทารกภายใน 10 – 15 นาที แต่ถ้ารกไม่คลอดในเวลาอันควร เลือดก็จะไหลอยู่เรื่อย ๆ จนทำให้ช็อกและคุณแม่เสียชีวิตได้ การที่รกไม่ยอมคลอดอาจเกิดจากรกเกาะติดแน่นเกินไป หรือรกฝังตัวลึกเข้าไปในผนังมดลูก หากเกิดเช่นนี้คุณหมอมักจะล้วงเอารกออกมา แต่ในรายที่รกฝังลึกมากจนไม่สามารถล้วงออกมาได้ก็มักจะต้องทำการผ่าตัดมดลูกเพื่อนำรกที่ค้างออกมาให้หมดเพื่อความปลอดภัยของคุณแม่
อย่างไรก็ตามในช่วงใกล้คลอดคุณหมอจะทำการอัลตร้าซาวด์อีกครั้งเพื่อดูท่าทางของทารกและประเมินความพร้อมในการคลอด ว่าสามารถคลอดเองได้หรือไม่ คุณแม่อย่าเพิ่งกังวลไปนะคะ บทความในครั้งนี้เพียงเพื่อบอกเล่าให้ทราบถึงภาวะคลอดยากเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าคุณแม่จะต้องคลอดยากนะคะ
ในระหว่างที่คุณแม่ยังไม่คลอดนี้ ก็ขอให้พักผ่อนอย่างเพียงพอ รักษาสุขภาพให้แข็งแรง เตรียมพร้อมในการเลี้ยงเจ้าตัวน้อยที่ใกล้จะลืมตามาดูโลกในไม่ช้ากันดีกว่าค่ะ
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ