ข่าวดีอย่างนี้ !!! ต้องบอกต่อคุณแม่ตั้งครรภ์ให้รีบไปใช้สิทธิและเตรียมตัวใช้สิทธิเพิ่มเติมกันค่ะ เพื่อไม่พลาดสิทธิประโยชน์พิเศษนี้
จากนพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ปกติประกันสังคมได้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีคลอดบุตรให้แก่ผู้ประกันตนในอัตรา 13,000 บาทต่อการคลอดบุตร 1 ครั้งอยู่แล้ว
ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2561 เป็นต้นไป มติคณะกรรมการประกันสังคมและที่ปรึกษามีมติเห็นชอบให้มีการปรับปรุงเรื่องสิทธิประโยชน์ของการตั้งครรภ์ โดยสนับสนุนค่าฝากครรภ์เพิ่มเติมให้อีก 1,000 บาท
สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของการได้รับสิทธิประโยชน์ มีเงื่อนไขกำหนดไว้ดังต่อไปนี้
ผู้ประกันตนจะต้องเข้ารับบริการฝากครรภ์ 3 ครั้งตามกำหนดคือ
ครั้งที่ 1 อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายในอัตรา 500 บาท
ครั้งที่ 2 อายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ จ่ายในอัตรา 300 บาท
ครั้งที่ 3 อายุครรภ์มากกว่า 20 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 28 สัปดาห์ จ่ายในอัตรา 200 บาท
- สำหรับแนวทางการขอรับประโยชน์ทดแทน จะต้องมีหลักฐานการเข้ารับบริการจากสถานพยาบาลที่ไปใช้บริการฝากครรภ์ในแต่ละครั้ง และสามารถยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนในส่วนค่าตรวจและรับฝากครรภ์เพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องรอให้มีการคลอดบุตร
- การดำเนินการอยู่ระหว่างการยกร่างประกาศคณะกรรมการการแพทย์ และจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป เพื่อเป็นของขวัญ “วันแรงงานแห่งชาติ”
เป้าหมายเรื่องสิทธิประโยชน์ค่าฝากครรภ์เพิ่มเติม คือต้องการให้ผู้ประกันตนได้รับบริการทางการแพทย์ได้อย่างทั่วถึง ลดความเหลื่อมล้ำเท่าเทียมและมีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศอย่างยั่งยืนเป็นสำคัญ
โครงการเงินอุดหนุน เพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ปี 2561
ข่าวดี!!! สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์หรือมีลูกน้อยที่เกิดในระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 60 เข้าเงื่อนไข โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดปี 2561
สรุปโครงการเงินอุดหนุนล่าสุดปี 2561
- เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2558 โดยตอนแรกจ่ายเงินอุดหนุนเดือนละ 400 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี ให้กับเด็กที่เกิดระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 30 กันยายน 2559
- ต่อมาในวันที่ 22 มีนาคม 2559 ครม. มีมติเพิ่มวงเงินจาก 400 บาท เป็น 600 บาท แถมขยายเวลาจากให้แค่ปีเดียวเป็นให้ไปจนถึงอายุ 3 ขวบ
- เด็กที่เกิดในปีงบประมาณ 2561 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 ถึง 30 กันยายน 2561) และมารดา บิดา หรือผู้ปกครอง ยื่นลงทะเบียนขอรับสิทธิ์เงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ภายในวันที่ 30 กันยายน 2561 จะได้รับเงินรายละ 600 บาท ตั้งแต่เดือนที่เด็กเกิดจนเด็กอายุครบ 3 ปี
เอกสารหลักฐานประกอบการลงทะเบียน โครงการเงินอุดหนุน เพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดปี 2561
เตรียมให้พร้อม ดังนี้
- เตรียมแบบลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิฯ (แบบ ดร.01)
- เตรียมแบบรับรองสถานะของครัวเรือน (แบบ ดร.02)
- เตรียมสำเนาบัตรประชาชนของบิดา มารดาของเด็ก
- เตรียมสำเนาทะเบียนบ้านของบิดามารดาของเด็ก
- เตรียม.สำเนาเอกสารแสดงการฝากครรภ์ หรือสำเนาสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก หน้าที่ 1
- เตรียมสำเนาสูจิบัตรเด็กแรกเกิด (ยื่นหลังคลอดบุตร) ที่ได้รับการรับรองแล้ว
- เตรียมสำเนาหน้าบัญชีธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรลงทะเบียนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดได้ตามสถานที่ ดังต่อไปนี้
- ในกรุงเทพมหานคร ให้ไปลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขตต่าง ๆ
- ในต่างจังหวัดให้ไปลงทะเบียนที่สำนักงานเทศบาล หรือที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบล
ผู้มีสิทธิตามเงื่อนไข ตั้งแต่เด็กแรกเกิด – 3 ปี โดยเป็นผู้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์ ดังนี้
1.เด็กที่เกิดในปีงบประมาณ 2559 และปีงบประมาณ 2560 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 – วันที่ 30 กันยายน 2560) จะได้รับเงินรายละ 600 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เดือนที่มาลงทะเบียนจนเด็กอายุครบ 3 ปี
2.หญิงตั้งครรภ์ และเด็กที่เกิดในปีงบประมาณ 2561 (ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 – 30 กันยายน 2561) จะได้รับเงินรายละ 600 บาท ต่อเดือน ตั้งแต่เดือนที่เกิดจนอายุครบ 3 ปี
3.ยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดว่า ผู้มีสิทธิ์ได้รับเงินอุดหนุน เพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดต้องเป็นผู้อยู่ในระบบประกันสังคม โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561
4.โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ก็ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 ก็ได้ยืดระยะเวลาให้คุณแม่ๆ ที่มีลูกซึ่งเกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ถึง 30 กันยายน 2560 เปิดรับลงทะเบียนไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2559 โดยสิ้นสุดในการเปิดรับลงทะเบียนในวันที่ 30 กันยายน 2560
ข่าวดี ๆ และเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่รุ่นใหม่ เพื่อให้รีบไปลงทะเบียนและใช้สิทธิได้ตามเงื่อนไข และหวังว่าโครงการที่เป็นประโยชน์และสนับสนุนให้คุณแม่รุ่นใหม่พร้อมดูแลลูกอย่างมีคุณภาพให้เติบโตและแข็งแรงเป็นเยาวชนที่ดีของชาติต่อไป
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ