การนวดสัมผัสแบบธรรมชาติหรือแบบอายุรเวท เป็นการนวดโดยใช้น้ำมันทำให้การนวดลื่นไหลดี เลือดลมไหลเวียนสะดวก และเต็มไปด้วยความนุ่มนวล น้ำมันสกัดจากธรรมชาติช่วยหล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้น สร้างความแข็งแรงให้ผิวพรรณ กล้ามเนื้อ และกระดูกที่กำลังเจริญเติบโตของลูกน้อยค่ะ
การเลือกใช้น้ำมันตามธรรมชาติ เพื่อการนวดสัมผัส
1.น้ำมันงา
น้ำมันงา เป็นน้ำมันตามธรรมชาติและเป็นแบบสกัดเย็น อุดมไปด้วยแร่ธาตุหลายชนิด เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม สังกะสี ซึมผ่านผิวหนังได้ดี
2.น้ำมันมะพร้าว
เหมาะสำหรับเด็กที่ไวต่อความร้อน สังเกตได้จาก หากมีความร้อนเด็กจะเกิดกาอาการผิวแดงหรือผื่นแดงขึ้น น้ำมันมะพร้าวมีฤทธิ์เย็นช่วยประโลมผิวได้ นิยมใช้นวดหนังศีรษะ ช่วยกระตุ้นการสร้างเส้นผม อุดมด้วยแคลเซียม และแร่ธาตุต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผิวพรรณ กระดูกและเล็บ
3.น้ำมันอัลมอนด์
น้ำมันอัลมอนด์ดีต่อสุขภาพและผิวพรรณช่วยคืนความอ่อนเยาว์ เพราะอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินเอ และวิตามินอี รวมไปถึงแร่ธาตุต่าง ๆ เช่น สังกะสี และแมกนีเซียม เป็นสารอาหารที่ดีต่อผิวพรรณ เส้นผม และเล็บ ชาวอินเดียนิยมใช้น้ำมันอัลมอนด์นวดเส้นผมและหนังศีรษะ และเหมาะที่จะใช้นวดตัวแต่เป็นน้ำมันที่ออกฤทธิ์ค่อนข้างร้อนตามธรรมชาติ เหมาะสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตอากาศเย็นมากกว่า
คำแนะนำ
หากลูกน้อยมีอาการแพ้น้ำมันงา น้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันอัลมอนด์ คุณแม่สามารถเปลี่ยนมาใช้น้ำมันมะกอก น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันองุ่นแทนได้ หัวใจสำคัญของการนวดแบบอายุรเวทนี้ คือ การนำความอบอุ่นของน้ำมันให้ซึมซาบลงสู่ผิวพรรณ และเส้นผมนั่นเอง
เวลาที่ควรนวดสัมผัสให้ลูกน้อย
1.เวลาในการนวดที่เหมาะสมและควรทำเป็นกิจวัตรประจำวัน คือ นวดในช่วงเช้า ทำให้ได้สัมผัสลูกทั้งสีหน้า แววตา ท่าทาง รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ น้ำเสียงของแม่ การพูดคุยหยอกล้อ หรือร้องเพลงให้ลูกฟัง ทำให้เกิดการบำบัดอย่างลึกซึ้ง ช่วยเสริมพัฒนาการด้านความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) และความฉลาดทางด้านสติปัญญา (IQ)
2.ควรนวดหลังจากมื้อนมช่วงเช้าแล้วอย่างน้อยประมาณ 30 -40 นาที ไม่ควรนวดตอนที่ลูกอิ่มหรือหิว ใช้เวลานวดครั้งละประมาณ 15 -30 นาที เพื่อให้น้ำมันซึมซาบลงสู่ผิวของลูกได้ดี
3.ห้องที่ใช้ในการนวดลูก ควรมีอุณหภูมิที่พอเหมาะ อากาศถ่ายเทสะดวก โยเฉพาะจะให้ดีหากมีแสงแดดอุ่นๆ ส่องถึงในยามเช้าจะช่วยเสริมวิตามินดีให้กับผิวพรรณ และช่วยให้ระดับบิลลิรูบินในเลือดที่ทำให้ทารกตัวเหลืองลดลง
4.หลังจากนวดเสร็จแล้วให้ใช้ผ้าอ้อมหรือเสื้อคลุมตัวลูกไว้ก่อน เพื่อเตรียมตัวอาบน้ำอุ่น
ข้อควรระวัง ไม่ควรนวดลูกในกรณีนี้
1.เมื่อลูกมีไข้ ไอ มีเสมหะ หรือมีอาการไม่สบายตัว
2.หลังจากฉีดวัคซีน ควรงดเว้นการนวดไป 2 -3 วัน
3.หากนวดไปแล้วผิวหนังของลูกมีอาการแพ้หรือผื่นขึ้น ให้หยุดนวดทันที
4.ในช่วงที่คุณแม่มีรอบเดือนหรือแม่อยู่ในช่วงเครียด หงุดหงิด เพราะลูกน้อยสามารถสื่ออารมณ์ถึงแม่ได้
อุปกรณ์ที่ใช้ในการนวด
1.น้ำมันที่ใช้นวด
2.ผ้าขนหนู
3.ผ้าสำหรับรองกันเปื้อนแบบนุ่ม ๆ
4.ผ้าอ้อมผ้า ไว้สำหรับใช้ซึมซับเพราะเวลานวดหากทารกปัสสาวะออกมาระหว่างการนวด
5.ผ้าฝ้ายเปียกหมาด ๆ หากเจ้าตัวน้อยปล่อยอุจจาระออกมาระหว่างที่นวดตัว
เริ่มต้นนวดสัมผัสให้ลูกน้อยอย่างไร
1.คุณแม่หรือผู้ที่นวดแบบอายุรเวทเริ่มต้นด้วยการถูฝ่ามือให้เกิดความอบอุ่น ปรับสภาวะอารมณ์ของตนเองก่อนลงมือนวด
2.เริ่มนวดที่เท้าและนิ้วทีละข้าง ถูน้ำมันอุ่น ๆ ที่ส้นเท้า ใช้หัวแม่มือกดเบา ๆ และเคลื่อนไปจนถึงปลายนิ้วเท้า ค่อยๆ หมุนและยืดนิ้วเท้าไปทีละนิ้ว อาจใช้มือกำเท้าของลูกไว้ก็ได้นะคะ และใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้บีบเท้าลูกเบาๆ เพื่อเป็นการอุ่นเครื่อง
3.แต่ละส่วนของร่างกายใช้นวดแตกต่างกัน ส่วนขาให้นวดน้ำมันแบบย้อนขึ้น – ลง หน้าอกให้นวดลง ส่วนแขนให้นวดแบบขึ้น – ลง สันหลังให้นวดขึ้น – ลงไปมา แล้วใช้นิ้วนวดแบบซิกแซกตามแนวกระดูกสันหลัง
4.บริเวณข้อต่อที่สำคัญ ได้แก่ หัวไหล่ ศอก ข้อมือ สะโพก เข่าและข้อเท้า ให้นวดเป็นวงกลม แล้วค่อย ๆ หยดน้ำมันบริเวณใกล้ๆ สะดือ นวดท้องให้เป็นวงกลมรอบสะดือ เอให้น้ำมันไหลเวียนซึมซาบเข้าสู่ใต้ชั้นผิวหนัง
5.บริเวณใบหน้า ให้ดึงปลายจมูกเบา ๆ เพื่อให้จมูกตรง ใช้ปลายนิ้วแตะเบา ๆ ที่หน้าผากและแก้ม แล้วกดบริเวณกึ่งกลางระหว่างจมูกและริมฝีปากทำเช่นเดียวกันที่บริเวณกึ่งกลางระหว่างริมฝีปากและคาง สำหรับใบหูให้ดึงเบา ๆ พร้อมกับกดจุดที่หูด้านนอกใต้ปุ่มกกหู และนวดวนเบาๆ
ท่านวดและท่าออกกำลังกาย
1.ออกกำลังกายแขน – ขา
ท่านี้ให้คุณแม่จับมือของลูกแล้วขยับแขนขึ้น – ลง พร้อมกับพูดว่า ขึ้น…ลง ก็ได้ ส่วนขาให้ยกขึ้น – ลง เบา ๆ หรือยกในลักษณะเป็นวงกลมก็ได้ค่ะ
2.กอดตัวเองให้สบายใจ
ท่านี้ให้คุณแม่จับแขนทั้งสองข้างของลูกไขว้ทับกันคล้ายท่ากอดตัวเอง เด็ก ๆ จะชื่นชอบท่าทางนี้มากค่ะ สังเกตจากรอยยิ้มเวลาที่ทำท่านี้ และยังช่วยลดอาการโคลิกได้อีกด้วยนะคะ
3.ท่าหนูน้อยคันไถ
ท่าทางนวดท่านี้เหมาะสำหรับลูกอายุ 5 เดือนขึ้นไป ให้แม่จับขาของลูกทั้งสองข้างยกงอไปทางด้านศีรษะ จะช่วยเรื่องระบบย่อยอาหาร และการยืดหยุ่นของกระดูกสันหลัง
4.ปล่อยลม
ยกเข่าขึ้นระดับเอว ท่านี้จะช่วยไล่ลมออกจากลำไส้ ทำให้ลูกสบายท้อง และลดอาการโคลิกได้ด้วย
5.บีบและรีด
ใช้มือทั้งสองข้างกำขาของลูก โดยให้มือข้างหนึ่งอยู่ด้านบนและอีกข้างจับอยู่ด้านล่าง บีบและเลื่อนมือสลับไปมาเรื่อยๆ คล้ายการรีดนมวัว ท่านี้จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อแขนและขา
ได้ทราบกันไปแล้วนะคะสำหรับกรรมวิธีการนวดในท่าต่าง ๆ รวมถึงการจัดเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ การนวดสัมผัสดีต่อทารกทั้งด้านร่างกางและจิตใจ จริงๆ ค่ะ เพราะการนวดทำให้ลูกรู้สึกสบายกายและได้ผ่อนคลาย อีกทั้งแม่และลูกยังได้ใกล้ชิดกันอีกด้วย เรียกว่า สุขใจทั้งผู้นวดและผู้ถูกนวดทั้งคู่เลยค่ะ
เรื่องอื่นๆ ที่เราแนะนำสำหรับคุณ