เมื่อลูกน้อยอายุครบ 1 ปี นมจากที่เคยเป็นอาหารหลักของลูกจะเริ่มกลายเป็นเพียงอาหารเสริม อาหารที่เข้ามาทดแทนนมจะมีความหลากหลายและมีสารอาหารครบ 5 หมู่ สิ่งสำคัญของลูกในวัย 1 ขวบปี คือการ สอนลูกเคี้ยวอาหาร จริงๆ แล้วสำหรับเด็กการเคี้ยวหงับ ๆ ที่ดูเหมือนว่าง่ายนั้น แต่ก็อาจเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีความยากเย็นสำหรับลูกเลยก็ได้นะคะ
การเคี้ยวอาหารสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย
การเคี้ยวอาหารจะช่วยในเรื่องการเคลื่อนไหวของขากรรไกร และการบริหารกล้ามเนื้อกระพุ้งแก้ม กล้ามเนื้อคอ ฝึกการใช้ลิ้นตวัดและดุนอาหาร เมื่อลูกเคี้ยวได้ดีขึ้นแล้วยังช่วยกระตุ้นให้กรามและฟันเติบโตสมวัยอีกด้วย
เริ่มต้น : ฝึกเคี้ยว
เมื่อลูกน้อยเริ่มต้นทานอาหารเสริมในวัย 6 เดือน อาหารที่ให้ลูกทานนั้นควรเป็นอาหารอ่อนๆ ก่อนเป็นอันดับแรก บดให้ละเอียดและค่อย ๆ พัฒนาเป็นเนื้ออาหารหยาบขึ้น และเปลี่ยนเป็นสับละเอียด ตามพัฒนาการของลูกเพื่อให้ลูกได้ฝึกการบดเคี้ยวอาหารหยาบ
เมื่อลูกอายุได้ 9 -10 เดือน ลองสังเกตดูว่า ลูกหยิบของเข้าปากบ้างหรือไม่ ให้คุณแม่ลองเตรียมอาหารเป็นชิ้น ๆ ให้ลูกหยิบจับเข้าปากทานเอง เช่น ผัก ผลไม้หั่นแท่งใหญ่ ๆ ขนมปังขาไก่ ลูกจะได้หยิบจับได้ด้วยตนเอง ฝึกกล้ามเนื้อมือไปในตัว
ปัญหาลูกไม่ยอมเคี้ยว / ชอบอมข้าว อมอาหาร มีสาเหตุจากอะไร
1.ความต้องการอาหารในแต่ละช่วงวัยของลูกจะแตกต่างกัน สังเกตว่าเมื่อลูกอายุ 1 ขวบขึ้นไป เริ่มเดินเตาะแตะ หรือบางคนอาจเริ่มวิ่ง จะทำให้ลูกสนใจสิ่งต่างๆ รอบตัวมากกว่าการทานอาหารทำให้ลูกทานอาหารได้น้อยลงและไม่ยอมเคี้ยวอาหารได้
2.สังเกตว่า เด็กที่มีโครงร่างเล็กมักจะต้องการอาหารน้อยกว่าเด็กที่มีโครงร่างใหญ่กว่า
3.แต่ละมื้อแต่ละวันหากวันไหนลูกทานจุบจิบทำให้ความอยากอาหารหรือความหิวลดลง ทำให้ทานอาหารได้น้อย และมักจะเริ่มอมข้าว ไม่ยอมเคี้ยวอาหารตามไปด้วย
4.ความชอบอาหารแต่ละชนิดของเด็กแต่ละคนก็แตกต่างกันออกไป เด็กบางคนชอบทานข้าว บางคนชอบทานขนมปัง บางคนชอบอาหารจำพวกเส้น ซึ่งควรผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเพื่อให้เกิดความหลากหลายในการรับประทานและจูงใจให้ลูกทานและเคี้ยวอาหารมากขึ้น
5.ในช่วงที่ลูกป่วยทำให้ลูกรู้สึกเบื่ออาหารได้
6.อารมณ์ของลูกก็มีส่วนทำให้ลูกไม่อยากทานและเคี้ยวอาหารได้นะคะ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธ เหงา เศร้า กังวล
แก้ปัญหาลูกอมข้าว ลูกไม่ยอมเคี้ยว ไม่ทานอาหาร
1.ก่อนอื่นต้องดูสภาพร่างกายของลูกด้วยนะคะ ว่าเจ็บป่วยหรือเปล่าเพราะบางทีน้ำหนักตัวน้อย พัฒนาการอื่น ๆ เป็นไปตามวัยก็จริงอยู่แต่ควรพบคุณหมอเพื่อประเมินดูภาวะโภชนาการนะคะ
2.ในการรับประทานอาหารแต่ละมื้อ ควรฝึกให้ลูกรักษาเวลาในการทานอาหาร ไม่ใช่ปล่อยให้ลูกเล่นไปทานไป หากเป็นเช่นนี้จะติดนิสัยการทานอาหารที่ไม่เหมาะสมได้
3.จัดที่นั่งให้ลูกได้ร่วมโต๊ะอาหารกับสมาชิกในครอบครัวและไม่ควรมีสิ่งของอื่นใดมาจูงใจลูกในเวลาทานอาหาร เช่น โทรศัพท์ ของเล่น ดูทีวี และไม่ควรเดินตามป้อน หรือต่อรองเรื่องการทานอาหารกับลูก
4.ควรให้ลูกได้เรียนรู้การช่วยเหลือตนเองบ้าง เช่น จับช้อนตักข้าวทานเอง หยิบอาหารใส่ปากเอง เป็นต้น
5.ไม่ควรแสดงความวิตกกังวลหรือคะยั้นคะยอให้ลูกทานอาหารมาก ๆ เพราะเท่ากับฝึกนิสัยให้ลูกนำเรื่องไม่ยอมทานอาหารมาต่อรองกับพ่อแม่ได้
เรื่องอื่นๆ ที่เราแนะนำสำหรับคุณ