fbpx
Homeเรื่องน่ารู้โรคที่พบในวัยเด็กโรคไข้เลือดออก(Dengue Fever) สังเกตยังไงว่าลูกเป็นไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก(Dengue Fever) สังเกตยังไงว่าลูกเป็นไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งบ้านเราเป็นเมืองร้อน  จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ชั้นดีของยุงหลากหลายชนิด รวมไปถึงยุงลายที่เป็นสาเหตุสำคัญทำให้คนติดเชื้อไข้เลือดออก ดังนั้นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้ รวมถึงวิธี สังเกตยังไงว่าลูกเป็นไข้เลือดออก และการดูแลอย่างถูกวิธีหากลูกเป็นไข้เลือดออกกันค่ะ

ทำความรู้จักกับโรคไข้เลือดออก (dengue virus)

ไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ คือ  สายพันธ์ 1 2 3 และ 4 คนติดเชื้อโรคจากการถูกยุงลายที่มีเชื้อมากัด ยุงลายจะออกหากินในเวลากลางวัน ชอบวางไข่บริเวณที่มีน้ำนิ่ง  เช่น  แหล่งน้ำขังในภาชนะเก่า ๆ ที่ทิ้งไว้ในบริเวณบ้าน น้ำในบ่อ  ถ้วยน้ำรองขาตู้กับข้าว กระถางต้นไม้ นำในแจกัน หรือยางรถยนต์เก่าที่มีน้ำขัง 

อาการไข้เลือดออก

ในระยะแรกหากได้รับเชื้อไวรัส 1 ใน 4 สายพันธุ์ตามที่กล่าวมา  มักจะไม่แสดงอาการ หรือมีอาการเพียงเล็กน้อยคล้ายไข้หวัด หลังจากหายแล้วร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์ที่ป่วย แต่ไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์อื่นได้   ดังนั้น  หากมีมีการติดเชื้อในสายพันธุ์อื่นในครั้งต่อไปจะทำให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรงขึ้น

สังเกตยังไงว่าลูกเป็นไข้เลือดออก

อาการของไข้เลือดออกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ  คือ ระยะมีไข้  ระยะไข้ลดหรือระยะวิกฤติ และระยะฟื้นตัว

1.ระยะมีไข้

อาการไข้มักจะเป็นไข้สูงลอย 39 – 40 องศาเซลเซียส  รับประทานยาลดไข้ไม่ค่อยได้ผล คือ  ไข้อาจจะลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  เหลือประมาณ 38 – 38.5 องศาเซลเซียส ไม่ลงมาถึง 37 องศาเซลเซียส แต่ยังไม่ทันครบ 4 ชั่วโมง  ไข้จะกลับมาสูงเช่นเดิม และเป็นไข้เช่นนี้อยู่ประมาณ 2 – 7วัน

จะมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ได้แก่  หน้าแดงจัด  ปวดศีรษะ ปวดเมื่อร่างกาย  ปวดกระดูก  ปวดน่องและขา  ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน  เบื่ออาหาร  อาจมีอาการเจ็บคอ ไม่มีน้ำมูก  ไอหากมีอาการรุนแรง อาจตรวจพบตับโต มีอาการทางสมอง เช่น  ซึมหรือชัก  มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง  เลือดกำเดาไหล

2.ระยะไข้ลดหรือระยะวิกฤติ

ในระยะนี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ เพราะไข้เลือดออกที่รุนแรงจะมีปัญหาเลือดออกหรือช็อกได้  คุณหมอจะคอยตามดูอาการอย่างใกล้ชิดในระยะเวลา 24 -48 ชั่วโมง ลูกจะมีอาการกระสับกระส่าย ปัสสาวะออกน้อย ชีพจรเต้นเร็วและเบาอาจมีอาการหายใจหอบเหนื่อย เนื่องจากมีสารน้ำเหลืองรั่วเข้าสู่ช่องเยื่อหุ้มปอด  ในรายที่ไม่รุนแรงจะไม่มีระยะนี้ให้เห็นอย่างเด่นชัด จะข้ามไประยะฟื้นตัวได้เลย

3.ระยะฟื้นตัว

ในระยะฟื้นตัว  แต่ยังต้องเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด  ในช่วงนี้สังเกตได้ว่า  ลูกจะเริ่มรับประทานอาหารได้มากขึ้น ชีพจรเต้นช้าและแรงขึ้น ปัสสาวะออกมามากขึ้น มีผื่นแดงขึ้นตามขาและเท้า  และมีอาการคัน สำหรับรายที่มีปัญหาช็อก  เมื่อผ่านช่วงวิกฤติแล้ว  ช่วงนี้คุณหมอจะสังเกตดูอาการเพื่อไม่ให้มีภาวะน้ำเกินในระบบไหลเวียนโลหิต เพราะภาวะน้ำเกินในร่างกายอาจส่งผลให้ลูกช็อกเพราะหัวใจทำงานหนักซึ่งเป็นอันตรายได้

การรักษาโรคไข้เลือดออก

1.ยังไม่มียาปฏิชีวนะทำลายเชื้อไวรัสไข้เลือดออกได้

2.ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการรุนแรง หมายถึง  ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการทางสมอง เช่น  ซึม ไม่มีเลือดออก ไม่ช็อก  สามารถดูแลที่บ้านและให้นอนพักผ่อนมาก ๆ สำหรับเด็ก ๆ ไม่ให้วิ่งเล่นซนหรือออกแรงมาก หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกแรง ๆ  ไม่แคะแกะจมูก หรือแปรงฟันแรง ๆ เพราะจะทำให้เลือดออกได้ง่าย

3.ส่วนใหญ่แล้วไข้เลือดออกคุณหมอจะรักษาตามอาการ เช่น  ให้ยาลดไข้ ให้ยาพาราเซตามอล  หรือเช็ดตัวเพื่อลดไข้เท่านั้น ไม่ให้แอสไพรินหรือไอบูโปรเฟน เพราะจะยิ่งทำให้เลือดออกมากขึ้น และให้ยาแก้อาการเจียนสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอาเจียนด้วย

4.ดูแลให้รับประทานอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย ให้รับประทานครั้งละน้อยๆ แต่ให้บ่อยครั้งขึ้น และไม่ควรให้ทานอาหารที่มีสีออกแดงเพราะจะทำให้สับสนได้หากเกิดอาเจียน 

5.ให้ดื่มน้ำเกลือแร่หรือจิบน้ำหวานบ่อย ๆ เพื่อให้มีพลังงานเพียงพอ ในกรณีที่เป็นเด็กมักจะต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดหรืออาจต้องให้เลือดทดแทน

การป้องกันลูกจากโรคไข้เลือดออก

  1. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายไม่ให้มีน้ำขังอยู่ในบริเวณบ้าน  เลี้ยงปลาที่กินลูกน้ำในบ่อน้ำ  เป็นต้น
  2. ใส่เกลือหรือน้ำส้มสายชู หรือทรายอะเบทในน้ำที่ขังอยู่ ตามแจกัน ขาตู้กับข้าวเพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมาวางไข่ 
  3. จัดห้องให้โล่ง  โปร่ง  ไม่มีกองสัมภาระรกรุงรัง  จะได้ไม่เป็นที่แอบซ่อนของยุงในช่วงเวลากลางวัน

อย่างไรก็ตาม  หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกป่วยเป็นไข้เลือดออก ไม่ควรนิ่งนอนใจนะคะ ต้องรีบพาไปพบคุณหมอเพื่อตรวจอาการให้แน่ชัดเพื่อความปลอดภัยค่ะ

เรื่องอื่นๆ ที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular