พ่อแม่หลายคนมักมีความกังวลเมื่อลูกเริ่มโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็มักที่จะมีโลกส่วนตัวและ ชอบอยู่คนเดียว มากกว่าการที่จะออกมาพบปะผู้คน ซึ่งก่อนอื่นพ่อแม่จะต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการมีโลกส่วนตัวสูง นั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิดและไม่ใช่เรื่องที่แปลกเพราะทุกคนต่างมีโลกส่วนตัวเช่นกัน แต่การมีโลกส่วนตัวในเด็กนั้นพ่อแม่อาจจะต้องให้ความสนใจและดูแลอย่างใกล้ชิด และไม่ควรปล่อยให้ลูกอยู่กับตัวเองเป็นเวลานาน ๆ มากจนเกินไป เพราะอาจจะส่งผลเสียในระยะยาวได้ สำหรับพ่อแม่คนไหนที่กำลังมีปัญหาเรื่องนี้วันนี้เรามีวิธีแก้ไขเมื่อลูกชอบอยู่คนเดียว มาฝาก แต่ก่อนที่เราจะไปดูวิธีแก้ไขเราไปดูสาเหตุที่เกิดขึ้นกันก่อนเลยดีกว่า
ลูก ชอบอยู่คนเดียว อาจเพราะมีโลกส่วนตัวสูง
ลูกชอบอยู่คนเดียว เป็นปัญหาที่พ่อแม่หลายบ้านจะต้องเผชิญ เพราะการอยู่คนเดียวของลูกนั้นอาจจะเป็นเพราะการมี โลกส่วนตัวสูง ชอบคิด ชอบทำอะไรด้วยตนเอง ซึ่งการอยู่คนเดียวบางครั้งก็อาจจะไม่ใช่เรื่องเลวร้ายหรือน่ากลัวอย่างที่หลายคนกังวล เพราะการอยู่คนเดียวมีหลายเหตุผล หลายปัจจัยและอาจจะไม่ใช่เรื่องที่แปลก โดยเด็กบางคนที่ชอบอยู่คนเดียวก็ไม่ได้เป็นภัยต่อสังคม เขาเพียงแค่อาจจะไม่ชอบความวุ่นวาย หรือไม่ชอบการอยู่กับคนจำนวนมากก็ได้ ซึ่งนี่อาจจะเป็นเพราะนิสัยส่วนตัวมากกว่า ดังนั้นนั้นสิ่งสำคัญเมื่อพ่อแม่สังเกตเห็นลูกชอบอยู่คนเดียว ก็คือให้ทำความเข้าใจเขาว่าต้องมีปัญหาอะไรหรือเปล่า เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างท่วงทัน
สาเหตุที่ทำให้ลูกมีโลกส่วนตัวสูง
สาเหตุที่ทำให้ลูกชอบอยู่คนเดียว ก็จะมีเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ดังนี้
- พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก พ่อแม่หลายบ้านต้องทำงานนอกบ้านเป็นหลักและกว่าจะกลับถึงบ้านก็คงเป็นเวลามืดค่ำ หรืออาจเป็นเวลาที่ลูกเข้านอน พอช่วงเช้าก็ต้องรีบไปทำงานซึ่งอาจจะเป็นเวลาที่ลูกยังไม่ตื่น ทำให้ไม่ค่อยได้มีเวลาได้เจอกัน เมื่อมีปัญหาอะไรก็ไม่รู้จะหันหน้าไปปรึกษาใคร ทำให้ลูกต้องอยู่คนเดียวและเล่นแต่มือถือ จนเป็นสาเหตุทำให้ลูกปลูกฝังการอยู่คนเดียวจนเคยชินนั่นเอง
- ขาดความมั่นใจ การขาดความมั่นใจเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนและทุกช่วงวัย และสาเหตุของการขาดความมั่นใจนั้นก็มาจากหลายปัจจัยด้วยกันไม่ว่าจะเป็นการต่อว่าลูกเป็นประจำ เกิดการไม่ส่งเสริมลูกในการทำสิ่งที่ชอบ ทำให้ส่งผลให้ลูกขาดความมั่นใจจนนำไปสู่การ ชอบอยู่คนเดียว ในที่สุด
- การไม่พบปะผู้คน เมื่อเด็กไม่ได้มีการพบปะผู้คนภายนอกบ่อย ๆ เด็กก็มักจะหากิจกรรมต่าง ๆ มาทำทดแทน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกมส์ การดูหนัง แทนการออกไปพบผู้คนภายนอก จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กชอบอยู่คนเดียว มากกว่าการออกไปข้างนอก
วิธีแก้ไข เมื่อลูกมีโลกส่วนตัวสูงเกินไป
เมื่อเราได้ทราบสาเหตุของการอยู่คนเดียวของลูกเราก็จะมีวิธีการแก้ปัญหาที่ดีเข้ามาช่วย โดยวิธีแก้ปัญหาลูกชอบอยู่คนเดียว หรือมีโลกส่วนตัวสูงจนเกินไปสามารถทำได้ดังนี้
1.ทำความเข้าใจกับลูก
สิ่งแรกเลยเมื่อพ่อแม่ทราบว่าลูกมีนิสัยอยู่คนเดียว สิ่งแรกที่จะต้องทำคือการทำความเข้าใจกับลูก โดยการเริ่มจากการพูดคุยถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะในบางครั้งมุมมองของผู้ใหญ่และเด็กมักมีความแตกต่างกัน พ่อแม่ลองปรับทัศนคติตนเองเพื่อทำความเข้าใจลูกให้มากขึ้น เปิดโอกาสให้ลูกได้พูดและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และคอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา
2.เติมความมั่นใจให้กับลูก
ให้พ่อแม่ลองสังเกตดูว่าลูกชอบทำอะไร สนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษและลองพิจารณาดูว่าเหมาะสมหรือไม่ หากเห็นว่าเขามีความสามารถ และมีความสนใจเป็นพิเศษจริง ๆ คุณควรส่งเสริมและเปิดโอกาสให้เขาได้ทำด้วยตนเอง เพราะการที่เขามีความมั่นใจมากขึ้น กล้าที่จะแสดงออก เขาก็จะกล้าออกมาพบปะผู้คนภายนอกและแสดงความสามารถที่เขามีให้คนอื่นได้เห็น
3.มีเวลาให้ลูก
เพราะพ่อแม่ทุกคนต้องทำงานทำให้ไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูก ส่งผลทำให้ลูกชอบอยู่คนเดียว มากกว่าการออกไปพบผู้คน ดังนั้นเพื่อหลีกเลี่ยงให้ลูกอยู่คนเดียว พ่อแม่ควรมีเวลาให้กับลูกอย่างเพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นการพาเขาออกไปเที่ยว การมีเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน และที่สำคัญคือมีเวลาพูดคุยกันเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ เพื่อจะได้แก้ปัญหาที่เกิดร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บางครั้งอาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวจนเกินไปสำหรับการมีโลกส่วนตัวของเด็ก แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการที่พ่อแม่ให้ความสนใจและดูแลอย่างใกล้ชิด พร้อมกับคอยให้คำปรึกษาตลอดเวลา และรับฟัง ให้คำปรึกษากับลูกบ่อย ๆ เมื่อเขาต้องเจอกับปัญหาต่าง ๆ เพื่อที่เขาจะได้รู้สึกว่าเขาไม่ได้อยู่ตัวคนเดียว และควรหมั่นหากิจกรรมดี ๆ ทำร่วมกัน เพื่อเป็นการสานสัมพันธ์ในครอบครัว และเพื่อเป็นการดึงลูกให้ออกมาจากโลกส่วนตัวและได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้นอีกด้วย
เรื่องอื่นๆ ที่เราแนะนำสำหรับคุณ
- สอนลูกเคี้ยวอาหาร ปัญหาลูกอมข้าว ไม่ยอมเคี้ยว เรื่องสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย
- เลือกของเล่นให้ลูกยังไง ให้เสริมพัฒนาการรอบด้านวัยแรกเกิด – 1 ปี
- อาการและพฤติกรรมเด็กแบบนี้ รอลูกโตแล้วหายเองได้จริงหรือ?