ปัจจุบันมีอาหารมากมายให้เลือกรับประทานไม่ว่าจะเป็นอาหารแบบบุฟเฟต์ อาหารจานด่วน อาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งอาหารเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดไขมันในเส้นเลือดสูง ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคหัวใจ ความดัน และยังเสี่ยงอัมพฤกษ์ อัมพาต จากเส้นเลือดในสมองตีบอีกด้วย วันนี้เรามาทำความรู้จัก ภาวะ ไขมันในเลือดสูง กันดีกว่าเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคดังกล่าวนั่นเอง
ไขมันในเลือดสูง เกิดจากอะไร
ในปัจจุบันมีผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง เพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งสาเหตุหลักก็มักจะเกิดจากอาหารการกิน การรับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดดังนี้
- ความผิดปกติทางพันธุกรรม
- เกิดจากยาบางชนิดเช่น ยาขับปัสสาวะ ยากลุ่มสเตียรอยด์
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น โรคอ้วน เบาหวาน ขาดฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- ภาวะขาดการออกกำลังกาย
อันตรายจากภาวะไขมันในเลือดสูง
ภาวะไขมันในเลือดสูงอันตรายมากกว่าที่คิด เพราะอาจนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือดและอัมพฤกษ์ อัมพาตได้ ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่ร้ายแรงมาก ผู้ที่มี คอเลสเตอรอลในเส้นเลือดสูง ทำให้เส้นเลือดแดงใหญ่แข็งตัว ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า หลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) ทำให้เลือดอุดตันส่งไปเลี้ยงหัวใจ และสมองไม่ได้ เกิดเป็นโรคหัวใจวายเฉียบพลัน หรืออัมพฤกษ์ อัมพาต เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ นั่นเอง
ใครบ้างที่เสี่ยงไขมันในเลือดสูง
ไขมันในเลือดสูง คือภาวะที่ร่างกายมีไขมันในเลือดสูงมากกว่าปกติ ซึ่งไขมันนั้นอาจจะเป็นไขมัน คอเลสเตอรอล (Cholesterol) หรือไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ก็ได้ ซึ่งผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงนั้น มีด้วยกันหลายกลุ่ม และไม่ว่ากลุ่มใดก็ตามที่เกิดภาวะไขมันในหลอดเลือดสูงแล้ว ก็เสี่ยงที่จะเกิดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่างๆ ในร่างกายไม่เพียงพอ และอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และนี่คือกลุ่มที่เสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะดังกล่าว
- ผู้ที่มีประวัติทางครอบครัวเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ในผู้ชายก่อนอายุ 55 ปี ผู้หญิงก่อนอายุ 65 ปี
- ผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีในกลุ่มเพศหญิง 45 ปีในกลุ่มเพศชาย
- ทางพันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติ คนในครอบครัวเคยป่วยด้วยภาวะ ไขมันในเลือดสูง
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคอ้วน
- ผู้ที่รับประทานอาหารไม่ถูกหลักโภชนาการ ทานอาหารที่มีไขมันสูงเป็นประจำ
- ผู้ที่ขาดการออกกำลังกาย ร่างกายไม่มีการเผาผลาญไขมันส่วนเกิน จนเกิดการสะสม กลายเป็นไขมันในเลือด
- ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
วิธีดูแลตัวเองเพื่อให้ไขมันในเลือดลดลง
สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง การดูแลอย่างถูกวิธีที่เหมาะสมจะช่วยลดความเสี่ยงอันตรายจากภาวะไขมันในหลอดเลือดได้ โดยผู้ป่วยที่มีภาวะ คอเลสเตอรอลในเลือดสูง ควรดูแลตัวเองด้วยวิธีดังต่อไปนี้
1.รับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ
- สมาคมโรคหัวใจในสหรัฐอเมริกา (the American Heart Association ) ได้แนะนำผู้ป่วยที่มีภาวะ ไขมันในเลือดสูง เลือกรับประทานอาหารให้ถูกหลักโภชนาการ โดยให้จำกัดปริมาณไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าร้อยละ 7 ของพลังงานที่ได้รับ ในแต่ละวันอย่างเช่น ผู้ที่ต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรีต่อวัน สามารถที่จะรับประทานอาหารไขมันอิ่มตัวในปริมาณไม่เกิน 140 กิโลแคลอรีต่อวัน หรือประมาณ 16 กรัมของไขมันอิ่มตัว
- ลดอาหารจำพวกไขมันอิ่มตัว หรือ คอเลสเตอรอล ซึ่งได้แก่อาหารจำพวกเนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ อาหารหมักดอง อาหารทะเลอย่างเช่น กุ้ง หอย ปู ปลาหมึก น้ำมันมะพร้าว กะทิ เป็นต้น
- ในคนปกติควรรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน และผู้ป่วยด้วยโรคเบาหวานควรรับประทานไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน
- ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัวหนึ่งตำแหน่ง หรือไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งทดแทนไขมันอิ่มตัว ได้แก่การรับประทานอาหารจากไขมันพืช ถั่วต่างๆ และเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำอย่างเช่นเนื้อปลา
- เปลี่ยนพฤติกรรมการปรุงอาหารใหม่ ควรเน้นการทำอาหารด้วยการนึ่ง ต้ม หรืออบ แทนการใช้น้ำมันทอด หากจำเป็นจะต้องใช้น้ำมันในการปรุงอาหารควรเลือกน้ำมันที่มาจากเมล็ดทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าวแทน น้ำมันจากปาล์ม และน้ำมันมะพร้าว เพราะมี2 อย่างนี้มีปริมาณไขมันอิ่มตัวสูง
- ควรรับประทานอาหารจำพวกผักผลไม้ที่มีกากใยมากขึ้นเช่น ผักคะน้า ผักโขม ใบแมงลัก เพื่อให้ร่างกายได้รับกากใยมากขึ้น เพื่อช่วยในการดูดซึมไขมันสู่ร่างกายน้อยลง
2.ผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ควรหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำด้วยการวิ่งเร็ว เดินเร็ว หรือการปั่นจักรยาน เพื่อลดไขมันในหลอดเลือดลง และเพิ่ม HDL ได้อย่างดี และควรออกกำลังกายต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง นานครั้งละไม่ต่ำกว่า 20-30 นาที
3.งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำจะยิ่งทำให้ไขมันในเส้นเลือดสูง โดยเฉพาะเครื่องดื่มประเภทเบียร์
4.ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
5.ผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ควรงดสูบบุหรี่ เพราะบุหรี่เป็นปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด และเสี่ยงเป็นมะเร็งในลำคอ
ไขมันในเลือดสูง เป็นภาวะเสี่ยงที่อันตรายถึงชีวิตได้ สำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในหลอดเลือดสูง ควรดูแลตัวเองด้วยวิธีที่เราได้กล่าวมาในข้างต้น ร่วมกับการปรึกษาแพทย์เพื่อติดตามอาการ หากรุนแรงแพทย์ก็อาจจะใช้ยาช่วยในการปรับระดับไขมันในเลือด เพราะฉะนั้นเราจึงควรดูแลตัวเอง ทานอาหารที่มีประโยชน์หมั่นออกกำลังกาย เลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ก็จะช่วยลดภาวะดังกล่าวได้
เรื่องอื่นๆ ที่เราแนะนำสำหรับคุณ