อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือ (Cardiac Arrhythmia) คือเต้นช้า หรือเต้นเร็วผิดปกติ ไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอ ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่อันตรายในเด็ก ที่คุณแม่ไม่ควรมองข้าม คุณแม่หลายคนมักจะคิดว่าเด็กแรกเกิดนั้นจะไม่มีปัญหาทางด้านหัวใจ แต่ภาวะหัวใจเต้นผิดปกตินั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะกับเด็กแรกเกิด ทารกบางคนสามารถตรวจพบอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะตั้งแต่ในครรภ์มารดา บางรายคลอดมาแล้วถึงได้พบอาการผิดปกติดังกล่าว อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่ ทั้งหมดล้วนเป็นปัญหาใหญ่สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่จำเป็นต้องใส่ใจดูแลสุขภาพของลูกน้อยมากเป็นพิเศษอย่างใกล้ชิด
อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ในเด็กเกิดจากอะไร
ภาวะ หัวใจเต้นผิดจังหวะ ในทารกแรกเกิด ส่วนใหญ่มักพบได้เพียงชั่วคราว และสามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ แต่บางกรณีอาจจำเป็นจะต้องรักษาและดูแลในระยะยาว ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะในเด็กนั้น เกิดจากปัจจัยหลายอย่างดังต่อไปนี้
- เกิดจากการกลายพันธุ์ ทางพันธุกรรม
- เกิดจากโครงสร้างทางร่างกายที่ผิดปกติตั้งแต่กำเนิด
- ความไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย
- การติดเชื้อ หรืออวัยวะในร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งเกิดการอักเสบ
- ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิด
- ปัญหาหัวใจพิการตั้งแต่กำเนิด (Congenital)
- ระดับสารเคมีในเลือดผิดปกติ
- เกิดจากภาวะร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง
- การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างหัวใจ
- ความผิดปกติของการนำไฟฟ้าหัวใจ
ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะได้ อย่างไรก็ตามหากพบว่าลูกมีอาการดังกล่าวควรพาไปพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างเหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ควรมองข้ามหรือปล่อยไว้ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่พบบ่อย
อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะในเด็กบางชนิดจำเป็นจะต้องได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งอาจต้องใช้เวลารักษาระยะยาวนานหลายปี พร้อมทั้งติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในเด็กที่พบบ่อยก็จะมีดังนี้
1.หัวใจเต้นเร็วเกินไป
หัวใจของเด็กที่เต้นเร็วผิดปกติ มักจะมีจุดกำเนิดจากห้องหัวใจบนที่มีลักษณะผิดปกติ โดยสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทด้วยกัน ได้แก่
- ภาวะหัวใจห้องบนเต้นเร็วผิดปกติ (SVT) ถือเป็นภาวะที่พบบ่อยเป็นอันดับสองในทารกแรกเกิด และภาวะหัวใจเต้นเร็วประเภทนี้สามารถหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไป หรือการรักษาโดยการใช้ยาอาจเพียงพอสำหรับรักษาอาการดังกล่าว
- หัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial flutter) คือการเต้นผิดปกติของหัวใจห้องบน (Atria) ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจจะสูงมาก ประมาณ 280 ถึง 500 ครั้ง/นาที (bpm) ภาวะหัวใจสั่นพลิ้วนี้สามารถคุกคามชีวิตเด็กได้ อย่างไรก็ตามหากพบอาการดังกล่าวตั้งแต่ในครรภ์ ให้พบแพทย์ทันทีเพื่อที่จะได้สามารถรักษาได้ทันท่วงที และช่วยชีวิตเด็กได้
- หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ ที่หัวใจห้องล่าง (VT) คือ การเต้นของหัวใจผิดจังหวะที่มีต้นกำเนิดในหัวใจห้องล่าง พบได้น้อยกว่าภาวะหัวใจเต้นเร็วที่มีความผิดปกติจากหัวใจห้องบนภาวะนี้ไม่อันตราย และสามารถรักษาให้หายได้
2.หัวใจเต้นช้าเกินไป
อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะประเภทนี้ พบได้น้อยกว่าภาวะหัวใจเต้นเร็วในทารกแรกเกิด ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดภาวะหัวใจเต้นช้าเกินไปนั้นเกิดจาก
- Sinus Bradycardia เกิดจากสัญญาณที่ผิดปกติที่มาจากโหนดไซนัส ซึ่งทำหน้าที่เสมือนเครื่องกระตุ้นหัวใจตามธรรมชาติของหัวใจอยู่ในผนังของห้องโถงด้านขวาของหัวใจ ภาวะหัวใจเต้นช้าประเภทนี้มักเป็นผลมาจากการควบคุมระบบทางเดินหายใจที่ยังไม่สมบูรณ์
- Heart block เกิดจากการอุดตันของแรงกระตุ้นไฟฟ้าภายในหัวใจหรือ Atrioventricular ส่งผลทำให้หัวใจเด็กทารกเต้นช้าผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นแบบชั่วคราวหรือถาวรได้
3.อาการใจสั่นในทารกและเด็กเล็ก
แม้ว่าอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะในเด็กจะน่ากังวล แต่ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางกรณีอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อสุขภาพของเด็ก หรือหากส่งผลกระทบก็เพียงเล็กน้อยไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตอย่างเช่น
- Sinus Tachycardia ซึ่งเป็นภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะที่พบบ่อยที่สุดในทารกแรกเกิด โดยเริ่มต้นในโหนดไซนัส และสามารถนำไปสู่อัตราการเต้นของหัวใจสูงถึง 170 bpm อย่างไรก็ตามภาวะดังกล่าวนี้ไม่ต้องรักษา เพราะจะเกิดขึ้นเมื่อเด็กเผชิญกับความกลัว ความเจ็บปวด หรือการติดเชื้อ และจะหายไปได้เอง
- Premature Atrial Contraction (PAC) หัวใจห้องบนเต้นสะดุด แต่เมื่อเกิดแล้วสามารถกลับสู่ภาวะปกติได้เองไม่จำเป็นต้องรักษา
การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การรักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ในเด็กทารกแรกเกิด และเด็กเล็ก แพทย์จะทำการรักษาขึ้นอยู่กับอาการ อายุ และสุขภาพของเด็ก ซึ่งมีแนวทางในการรักษาดังนี้
- รักษาโดยการใช้ยา ซึ่งภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภท สามารถใช้ยาบรรเทาอาการได้เป็นอย่างดี
- การรักษา หัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยการจี้ไฟฟ้าหัวใจ ขั้นตอนนี้จะมีการใช้สายสวนพิเศษ เพื่อทำลายเนื้อเยื่อ และวงจรไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง
- การรักษาโดยการผ่าตัด สามารถหยุดจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติได้
- การรักษาโดยการใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กที่ใส่เข้าไปในช่องท้องหรือหน้าอก ให้กระแสไฟฟ้าแก่หัวใจในปริมาณเล็กน้อย เพื่อให้หัวใจเต้นสม่ำเสมอ
อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะถือเป็นภาวะที่อันตรายในเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรมองข้าม หากสังเกตพบว่าลูกมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะควรรีบพารักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะบางชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากปล่อยไว้ไม่ได้รับการรักษาก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตของลูกได้เช่นกัน
เรื่องอื่นๆ ที่เราแนะนำสำหรับคุณ
- แพทย์ชี้โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง เป็นโรคใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
- นวดสัมผัสแบบอายุรเวท พลังธรรมชาติจากแม่สู่ลูก ช่วยผ่อนคลาย ห่างไกลโคลิค
- มีลูกสาวต้องรู้! เด็กผู้หญิงเป็นโรคไส้เลื่อนได้