เด็กทารก หรือ เด็กเล็กจะมีการ อาเจียน หรือ แหวะนม นั้นถือเป็นเรื่องปกติ แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องแยกให้ออกว่า อาเจียน กับ แหวะนม ต่างกันอย่างไร เพราะอาการทั้ง 2 แบบสามารถบ่งบอกได้ว่าลูกเป็นอะไร มีอะไรผิดปกติหรือไม่?
อาการอาเจียน หรือ แหวะนม มักจะเป็นหลังจากกินนมหรือกินอาหารไปแล้วไม่นาน สามารถแยกอาการทั้ง 2 แบบได้ดังนี้
1.อาการแหวะนม
ที่เด็กแหวะนมบ่อย เกิดจากหูรูดบริเวณปากกระเพาะยังทำงานไม่สมบูรณ์ เด็กบางคนแหวะแค่หลังกินนม แต่บางคนอาจจะมีอาการแหวะนมทั้งวัน อาการแบบนี้ถือว่าไม่อันตราย เมื่อโตขึ้นอาการเหล่านี้จะหายไปเองค่ะ
2.อาเจียนพุ่ง
คือการที่มีนมหรืออาหารพุ่งออกมาจากทางปากของลูกอย่างรุนแรง มีหลายสาเหตุ ดังนี้
- กินนมมากเกินไป
- ลำไส้และกระเพาะอาหารอักเสบ
- อาหารที่กินอาจมีสารปนเปื้อน หรือ มีเชื้อแบคทีเรีย
- อาเจียนขับเสมหะ เพราะเด็กยังไอขับเสมหะไม่เป็น เมื่อลูกไอหรืออาเจียนแล้วมีเสมหะออกมาด้วยจะดีมากค่ะ เพราะเสมหะจะได้ไม่คั่งค้างอยู่ในปอด
- อาเจียนหลังกินยา กินยามากเกินไปก็ทำให้อาเจียนได้ค่ะ
อาการอาเจียนที่กล่าวมาถือว่าเป็นอาการปกติ เด็ก ๆ เป็นกันบ่อย ๆ ค่ะ แต่ถ้าลูกอาเจียนและมีอาการอื่นรวมด้วยแบบนี้ถือว่าอันตรายค่ะ เช่น
- อาเจียนบ่อยครั้งใน 1 วัน อาเจียนตลอดเวลา ลูกอาจมีอาการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจ ต้องระวังอาการขาดน้ำด้วยค่ะ
- อาเจียนและมีไข้ร่วมด้วย อาจเกิดการติดเชื้อทางเดินอาหารส่วนบน
- อาเจียน มีไข้ ท้องเสีย อาจเกิดการติดเชื้อที่ระบบทางเดินอาหาร
- อาเจียนพุ่ง หลังจากได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง ภายใน 28 ชั่วโมง เช่น เด็กตกเตียงหัวกระแทกพื้น เป็นต้น
ถ้าคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าลูกมีอาการอาเจียนพุ่งที่กล่าวมาข้างต้น ควรรีบพาลูกพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค ยิ่งถ้าลูกอาเจียนมาก และไม่ค่อยปัสสาวะ หรือปัสสาวะน้อยกว่าปกติ ลูกอาจเกิดภาวะขาดน้ำได้ ซึ่งการขาดน้ำอาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ค่ะ
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ