โรคไมโคพลาสมา เป็นโรคระบาดที่คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังในช่วงนี้ เพราะกำลังอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาด มีเด็ก ๆ หลายคนติดเชื้อนี้กันเยอะเลยค่ะ
ดังนั้นเรามาทำความรู้จักเกี่ยวกับโรคไมโคพลาสมา กันดีกว่าค่ะ ว่าเกิดจากอะไร มีอันตรายกับลูกของเราขนาดไหน คุณพ่อคุณแม่จะได้หาวิธีรับมือป้องกันให้กับลูก ๆ ของเราได้ค่ะ
โรคไมโคพลาสมา เป็นโรคระบาดที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียขนาดเล็ก ที่มีชื่อว่า “mycoplasma pneumonia” เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำลายเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ส่วนบนและส่วนล่าง ทำให้เกิดอาการไอ เจ็บคอ หลอดลมอักเสบ และปอดบวมได้ เชื้อนี้ไม่ได้ระบาดแค่ในคนเท่านั้น ยังระบาดไปถึงสัตว์บางชนิดอีกด้วย เช่น สุกร วัว ทำให้สัตว์เหล่านี้เป็นปอดบวมได้ไม่ต่างจากคนเลยค่ะ
ใครบ้างที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดเป็นโรคไมโคพลาสมา
1.ผู้มีอายุน้อยกว่า 40 ปี และพบบ่อยมากในเด็กเล็ก และวัยรุ่นอายุน้อยกว่า 20 ปี
2.เป็นได้ทั้งชายและหญิง และเป็นได้ตลอดทั้งปี
3.ผู้ที่อยู่ในสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เช่น โรงเรียน ค่ายทหาร เรือนจำ ฟาร์มสัตว์ สถานที่ ๆ เป็นชุมชนแออัด หรือ มีผู้คนพลุกพล่าน เป็นต้น
การติดต่อของโรค เกิดขึ้นได้ง่าย เพียงแค่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ช่วย หรือ ได้รับละอองไอจามของผู้ป่วย ถ้ามีคนในบ้านป่วย คนที่เหลือในบ้านก็จะติดเชื้อนี้ไปด้วยนั่นเอง
อาการของโรคไมโคพลาสมา ที่พบในผู้ป่วย มีดังนี้
1.ไข้สูงมากกว่า 38 องศาเซลเซียส อาจมีอาการหนาวสั่น
2.ไอแห้ง ๆ อาจมีเสมหะขาว อาการค่อย ๆ เป็นมากขึ้น อาจไอเรื้อรังจนทำให้เจ็บกล้ามเนื้อหน้าอก
3.ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อปวดศีรษะ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย
4.เจ็บคอ คันคอ อาการเจ็บคอจะไม่มาก คอแดงเล็กน้อยไม่มีหนอง
5.เจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือออก (พบได้น้อย)
6.อาจพบผื่นแดงตามร่างกายลักษณะคล้ายไข้ออกผื่น(ส่าไข้)
7.ถ้าอาการรุนแรงขึ้น จะทำให้หายใจเหนื่อยหายใจเร็ว แต่ยังคงดำเนินชีวิตประจำวันได้ปกติ
อาการที่ต้องพบแพทย์อย่างเร่งด่วน ได้แก่
1.ไข้สูง
2.อาการไอแห้ง ๆ บ่อยครั้งและเป็นระยะเวลานาน หรือไอเป็นเลือด
3.อาการหายใจหอบเหนื่อยหายใจเร็ว
4.อาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าหรือออก
5.อาการแน่นหน้าอกด้านซ้าย หรือรู้สึกหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการแขนหรือขาอ่อนแรง หรือชักเกร็ง ซึมลง อาการซีด ปาก-ลิ้นสีซีด ปัสสาวะสีเข้ม (สีน้ำปลาหรือสีโค้ก) หรือมีจุดเลือดออกตามร่างกาย ซึ่งอาการเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อไมโคพลาสมา
6.ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือรับประทานยากดภูมิคุ้มกัน อาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงได้ง่าย
การรักษาโรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ และรักษาตามอาการ ผู้ป่วยบางคนถ้ามีอาการหอบ หายใจแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล บางคนอาจมีไข้สูงติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์ และมีอาการไอจามประมาณ 2-6 สัปดาห์ แต่ถ้าได้รักษาอย่างถูกวิธีก็จะหายได้อย่างรวดเร็วค่ะ
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ