โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งไวรัสที่เป็นสาเหตุสำคัญและพบได้บ่อยคือ ไวรัสเดงกี่ (Dengue Virus) ผู้ป่วยไข้เลือดออกที่มีอาการรุนแรงมักติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ ส่วนไวรัสอีกชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุคือ ไวรัสชิกุนกุนยา(Chikungunya Virus) ซึ่งพบน้อยกว่าและมีอาการไม่รุนแรง
ไวรัสทั้งสองชนิดติดต่อมาสู่คนได้ต้องอาศัยยุงลายเป็นพาหะ ยุงลาย ชอบหากินในเวลากลางวันโดยการกัดและดูดเลือด โรคไข้เลือดออกมักพบในเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปี ถึง 14 ปี ช่วงอายุอื่นอาจพบได้บ้างแต่ค่อนข้างน้อย และในช่วงฤดูฝน จะมีการระบาดของโรคนี้มากที่สุดค่ะ
อาการของโรคไข้เลือดออกแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
1. ไข้เลือดออกระยะไข้สูง เด็กจะมีไข้สูงประมาณ 39-40 องศาเซลเซียส ถึงแม้จะกินยาลดไข้แต่ไข้มักจะไม่ลดลง เรียกว่า ไข้ลอย หน้าแดงๆ ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก บางรายอาจมีอาการอาเจียน ปวดท้อง ปวดศีรษะ มีจุดเลือดออกเล็กๆ ตามผิวหนัง อาการไข้ส่วนใหญ่มักเป็นอยู่ประมาณ3-5 วัน จากนั้นไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว
2. ไข้เลือดออกระยะวิกฤติ หลังจากไข้ลดจะมีอาการอาเจียน กินอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวาเนื่องจากตับโตขึ้น ซึมลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น ชีพจรเบาเร็ว ปัสสาวะน้อยลง และจะมีการรั่วของพลาสมา (Plasma) หรือน้ำเหลืองออกนอกเส้นเลือด
อาจมีอาการเลือดออกผิดปกติ เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำหรือถ่ายเป็นเลือด เลือดกำเดาไหล มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ในรายที่อาการรุนแรงมากจะมีการรั่วของพลาสมาออกนอกเส้นเลือดเป็นจำนวนมาก และถ้าให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดทดแทนไม่ทัน เด็กจะเกิดการช็อก อาจคลำชีพจรและวัดความดันโลหิตไม่ได้ เด็กอาจเสียชีวิตได้
ระยะนี้จะกินเวลา 24 – 28 ชั่วโมง นับจากไข้เริ่มลดลงมาปกติ ถ้าสามารถประคับประคองให้เด็กผ่านระยะนี้ไปได้ เด็กจะพ้นอันตรายและเข้าสู่ระยะที่ 3
3. ไข้เลือดออกระยะฟื้นตัว ระยะนี้เป็นระยะที่มีการดูดกลับของพลาสมาเข้าสู่กระแสเลือด และมีอาการโดยทั่วไปดีขึ้น ชีพจรกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สังเกตได้จากเด็กจะเริ่มทานอาหารได้ ร่าเริง ไม่อาเจียน อาการปวดท้องเริ่มลดลงเนื่องจากตับที่โตค่อยๆ เล็กลง เด็กจะดูสดชื่นขึ้น และจะหายปกติในที่สุดค่ะ
การรักษาโรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกนี้ยังไม่มียาเฉพาะ ทำได้แค่รักษาไปตามอาการ เมื่อเด็กป่วยเป็นไข้ และหน้าแดงๆ ให้ทานยาพาราเซตามอลและเช็ดตัว ห้ามให้เด็กรับประทานยาแอสไพริน หรือยาแก้อักเสบอื่นๆ เพราะอาจทำให้เลือดออกในกระเพาะได้ ถ้าไข้ยังไม่ลงให้รีบนำไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อทันที หากพบเร็วก็จะรักษาได้ทัน ทำให้เด็กไม่มีอาการแทรกซ้อนมาก
การป้องกันไข้เลือดออก
ยุงลาย เป็นพาหะนำโรค ดังนั้น ต้องระวังไม่ให้ลูกถูกยุงกัด โดยให้เด็กนอนในห้องที่มีมุ้งลวด หรือมีมุ้งครอบตัวเด็ก หรือทายากันยุงสำหรับเด็ก และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงทั้งหมด เพื่อไม่ให้ยุงไปวางไข่ได้ เด็กที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกในระยะ5 วันแรกของโรค(ซึ่งเป็นระยะที่มีเชื้อไวรัสอยู่ในกระแสเลือด) ไม่ควรให้ถูกยุงกัด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นค่ะ
บทความจาก : แม่รักลูก