กรดไหลย้อนในหญิงตั้งครรภ์
โรคกรดไหลย้อนในหญิงตั้งครรภ์ จะพบได้ตั้งแต่อายุครรภ์ 3 เดือนขึ้นไป โดยมักจะรู้สึกเปรี้ยวหรือขมในปาก เรอเปรี้ยวบ่อยครั้ง จุก เสียด แน่น ท้องอืด อึดอัดท้อง และแสบร้อนยอดอกหรือบริเวณลิ้นปี่ บางคนมีอาการไอเรื้อรัง เสียงแหบตามมาด้วย
อาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ ๆ โดยเกิดขึ้นได้กับผู้ที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อนเลย หรือคนที่เป็นโรคนี้อยู่แล้วก็อาจจะทำให้มีอาการมากขึ้นในช่วงที่ตั้งครรภ์
สาเหตุของอาการ กรดไหลย้อนในหญิงตั้งครรภ์
เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน และระบบภายในร่างกายส่วนต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดแรงบีบตรงหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างที่ต่อกับส่วนต้นของกระเพาะอาหารทำงานลดน้อยลง อีกทั้งมดลูกที่โอบอุ้มทารกที่เติบโตขึ้นตามอายุครรภ์มีการขยายขนาดขึ้นจนไปกดและดันกระเพาะอาหาร ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้มีกรดไหลย้อนจากกระเพาะขึ้นเหนือหูรูดหลอดอาหาร
ซึ่งกรดจากกระเพาะอาหารนั้นมีฤทธิ์กัดเนื้อเยื่อของหลอดอาหารทำให้รู้สึกแสบร้อน ปวดที่ยอดอก เรอเปรี้ยวดังกล่าว แม้อาการเหล่านี้จะไม่มีผลกระทบกับทารกในครรภ์ แต่ก็ทำให้คุณแม่ตั้งครรภ์รู้สึกไม่สบายตัว เป็นอุปสรรคต่อการพักผ่อน โดยเฉพาะในเวลากลางคืนที่อาจรู้สึกจุก เสียด แน่น และแสบยอดอกจนนอนไม่ได้
การป้องกันอาการของกรดไหลย้อนในหญิงตั้งครรภ์
การป้องกันอาการของกรดไหลย้อนในหญิงตั้งครรภ์นั้น คุณแม่จะต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสจัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มที่มีรสเปรี้ยว ไม่ควรรับประทานอาหารครั้งละมาก ๆ ควรรับประทานน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ และรับประทานมื้อเย็นให้เร็วขึ้น ห่างจากเวลาเข้านอนไม่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมง นอนหนุนศีรษะสูงขึ้น และที่สำคัญต้องไม่เครียดด้วย เพราะความเครียดกระตุ้นให้น้ำย่อยหลั่งมากขึ้นค่ะ
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ