“โรคคาวาซากิ” โรคที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำความรู้จักเอาไว้นะคะ เพราะเด็กที่เป็นโรคนี้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง มีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดแดงหัวใจโป่งพอง เป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้
โรคคาวาซากิ (Kawasaki disease) เป็นกลุ่มอาการของโรคที่ประกอบด้วย ไข้สูง มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังและเยื่อบุผิว และต่อมน้ำเหลืองที่คอโต เป็นโรคที่พบในเด็ก พบมากในเด็กเอเชีย และหากผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดความผิดปกติของหลอดเลือดแดงหัวใจมีการโป่งพองของหลอดเลือด เป็นภาวะที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
โรคคาวาซากิ ตรวจพบครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยนายแพทย์ Tomisaku Kawasaki ที่ประเทศญี่ปุ่น และตั้งชื่อว่า Mucocutaneous Lymph Node Syndrome (MCLS) และต่อมาก็พบโรคนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรคคาวาซากิ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบครั้งแรก
ใครบ้างที่มีความเสี่ยงเป็นโรคนี้
โรคคาวาซากิพบในเด็กเล็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ส่วนใหญ่พบในเด็กอายุเฉลี่ยประมาณ 2-3 ปี พบในเด็กผู้ชายมากกว่าเด็กผู้หญิง สัดส่วนประมาณ 2:1 เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้อาจเกิดเป็นซ้ำได้
สาเหตุของโรคคาวาซากิ
ปัจจุบันยังไม่ทราบถึงสาเหตุของโรคคาวาซากิ แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นจากการติดเชื้อ และเชื้อโรคไปกระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองทางภูมิคุ้มกันผิดปกติ ส่งผลทำให้มีการอักเสบของหลอดเลือดเกิดขึ้น
อาการของโรคคาวาซากิ
- ผู้ป่วยโรคคาวาซากิจะมีไข้สูง ถ้าไม่ได้รับการรักษาไข้จะสูงนานประมาณ 1-2 สัปดาห์
- มีการเปลี่ยนแปลงของฝ่ามือและฝ่าเท้า ในช่วงแรกจะพบว่ามีการบวมแดงของฝ่ามือ ฝ่าเท้า นิ้วมือดูบวม ๆ ในรายที่เป็นไข้มาแล้ว 2-3 สัปดาห์ จะพบว่ามีการลอกของผิวหนังบริเวณปลายนิ้วมือ และนิ้วเท้า
- ตาแดง เยื่อบุตาขาวจะแดง 2 ข้าง ไม่มีขี้ตา และเป็นหลังมีไข้ประมาณ 1-2 วัน และเป็นอยู่นานประมาณ 1-2 สัปดาห์
- มีการเปลี่ยนแปลงของริมฝีปาก และ ช่องปาก จะมีริมฝีปากแดงแห้ง เป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ และผิวหนังอาจแตกแห้งหลุดลอกได้ ภายในอุ้งปากจะแดง ลิ้นแดงมากเหมือนสีของสตอเบอร์รี่
- ผื่นแดงลาย ๆ ตามตัว และ แขนขา มักเกิดหลังมีไข้ประมาณ 1-2 วัน ผื่นอยู่นานประมาณ 1 สัปดาห์
- ต่อมน้ำเหลืองที่บริเวณข้างลำคอโต อาการนี้พบได้ประมาณร้อยละ 50-70 ของผู้ป่วย มีขนาดประมาณ 1.5 เซนติเมตรขึ้นไป และมักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง
นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการแสดงอื่น ๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย เช่น ปวดตามข้อ, กระเพาะปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ, ท้องเสีย, เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น ปัญหาสำคัญของโรคนี้ คือ เกิดโรคแทรกซ้อนที่หัวใจและหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ พบประมาณร้อยละ 20-30 ถ้าไม่ได้รับการรักษา
การรักษาโรคคาวาซากิ
เนื่องจากโรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุ จึงยังไม่มียาเฉพาะใช้รักษาโรค ซึ่งในปัจจุบันจะเป็นการรักษาด้วย อิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีด (intravenous immunoglobulin, IVIG) โดยให้ยาทางหลอดเลือดดำ สามารถลดความรุนแรงของโรคแทรกซ้อนที่หัวใจและหลอดเลือดลงได้ ส่วนยาอื่น ๆ ก็จะดูตามความเหมาะสม คือตามอาการของผู้ป่วย
โรคคาวาซากิ เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด การรักษาไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้ ดังนั้น เมื่อเด็กมีไข้สูงร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ตาแดง มีผื่น ริมฝีปากแดง มือ เท้า บวม ควรรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่านิ่งนอนใจให้แต่ยาลดไข้อยู่ที่บ้านนะคะ การรักษาที่ถูกต้องทันเวลา จะช่วยลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงตามมาในภายหลังได้เป็นอย่างมาก
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ