มีผู้หญิงจำนวน 70-80 เปอร์เซ็นต์ เลยนะคะ ที่ตั้งครรภ์ไปด้วยทำงานไปด้วยได้ ซึ่งเป็นความโชคดีมาก ๆ ที่ไม่มีอาการแพ้ท้อง หรือ การตั้งครรภ์ที่เป็นอุปสรรค คุณแม่บางคนทำงานจนวันสุดท้ายของการตั้งครรภ์ คุณแม่บางคนมีอาการปวดท้อง ปวดมดลูก หรือ น้ำเดินกันที่ทำงานเลยทีเดียว
แต่ก็มีคุณแม่บางคนที่ลางานก่อนคลอดครึ่งเดือน หรือ ลาเป็นเดือนเลยก็มีค่ะ คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ไปด้วยและทำงานไปด้วย เรามีแนวทางในการปฏิบัติตัวและการวางแผนลาคลอดในที่ทำงาน มาฝากค่ะ
1. แจ้งกับหัวหน้างาน หรือ นายจ้าง ว่าคุณกำลังตั้งครรภ์
คุณอาจต้องลาหยุดก่อนคลอด หรือ หลังคลอด หรือเปลี่ยนแผนกการทำงาน ในระหว่างที่ตั้งครรภ์ ขึ้นอยู่กับว่าในตอนนี้คุณทำงานในตำแหน่งอะไร ถ้าเป็นตำแหน่งที่ต้องใช้แรงงานควรแจ้งหัวหน้าเพื่อเปลี่ยนหน้าที่ไปก่อนค่ะ
2. ดูตำแหน่งงานหลังคลอดของคุณไว้
ก่อนคุณลาไปคลอด คุณทำงานเกี่ยวกับอะไร และอยู่ในตำแหน่งไหน หลังคลอดคุณจะได้กลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมหรือไม่ คุณอาจจะได้รับมอบหมายในตำแหน่งงานที่มากขึ้น หรือสูงขึ้น หรืออาจจะต้องเปลี่ยนตำแหน่งการทำงานไปเลยก็ได้ค่ะ เรื่องนี้คุณต้องคุยกับหัวหน้าของคุณไว้ก่อนค่ะ
3. เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ในช่วงไตรมาสแรกคุณยังไม่จำเป็นต้องบอกใคร
รอให้ท้องสัก 3-4 เดือนไปก่อนค่อยบอกข่าวดีนี้สำหรับคนในที่ทำงานก็ได้ เพราะผู้หญิงส่วนมากจะไม่บอกว่าตัวเองตั้งครรภ์จนกว่าจะ 3 เดือนไปแล้วค่ะ ยกเว้นกรณีที่คุณแม่มีอาการแพ้ท้องหนัก และ แพ้ท้องจนคนที่ทำงานสังเกตเห็นกันเองค่ะ
4. ขณะตั้งครรภ์ คุณอาจจะไม่ได้ทำงานเต็มที่เหมือนที่คุณทำอยู่
เนื่องจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง คุณแม่บางคนอาจมีอาการแพ้ท้อง หรือ คุณแม่บางคนอาจต้องเปลี่ยนตำแหน่งงาน ชั่วคราวระหว่างตั้งครรภ์ เช่น คุณแม่ที่ทำงานในห้องเอกซเรย์ คุณแม่ที่ทำงานกับเครื่องถ่ายเอกสาร(กลิ่นหมึกอาจทำให้มีอาการปวดหัว หรือมึนงง) คุณแม่ที่ต้องทำงานเข้ากะในตอนกลางคืน อาจต้องเปลี่ยนมาทำงานในตอนเช้า เป็นต้น
5. งานที่ทำอยู่เหมาะสมหรือไม่?
สอบถามใจตัวเอง ว่างานที่ทำอยู่ตอนนี้ เหมาะสมกับสภาพร่างกายของคุณแม่ขณะตั้งครรภ์หรือไม่ และจะทำได้นานแค่ไหน หลังคลอดสามารถกลับมาทำงานต่อได้หรือไม่ มีคนเลี้ยงลูกให้หรือไม่ จะกลับมาทำงานในตำแหน่งเดิมได้หรือไม่ คู่สามีและหัวหน้างานของคุณจะช่วยคุณคิดตอบคำถามเหล่านี้ได้ดีที่สุดค่ะ
6. ทำตัวและจิตใจให้ร่าเริงกับ 2 หน้าที่ที่ทำอยู่
คิดบวกว่าคุณสามารถทำได้ทั้ง 2 อย่าง เป็นคุณแม่ตั้งครรภ์ก็ได้ และยังเป็นพนักงานที่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม แบบไม่มีปัญหา คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเห็นถึงสุขภาพ และ การเจริญเติบโตของลูกในท้องมาเป็นอันดับ 1 อยู่แล้ว แต่การงานก็ละทิ้งไม่ได้เช่นกัน เพราะการมีงาน ทำให้มีเงิน และสามารถทำให้คุณแม่และลูกมีชีวิตอยู่ได้แบบไม่ขัดสน และสะดวกสบายมากขึ้นนั่นเองค่ะ
7. ตรวจสอบนโยบายลาคลอดของบริษัทคุณให้ละเอียด
ดูแลเรื่องสิทธิต่าง ๆ หรือ เงินสมทบต่าง ๆ ที่คุณจะได้รับขณะลาคลอดหรือตั้งครรภ์ สอบถามกับทางฝ่ายบุคคลหรือ บัญชีของบริษัทให้แน่ใจ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง เรื่องการจ่ายเงินสมทบ เงินเดือน กองทุน ประกันกลุ่ม เบี้ยเลี้ยง การติดต่อประกันสังคม การลาคลอด ลาคลอดได้กี่วัน ลาคลอดล่วงหน้าได้กี่วัน ตำแหน่งงานก่อนลาคลอด และ ตำแหน่งงานหลังลาคลอด ตรวจสอบและพูดคุยกับหัวหน้าให้เรียบร้อยก่อนลาคลอดค่ะ
8. ตรวจสอบเอกสารเกี่ยวกับการคลอดให้ดี
สอบถามกับฝ่ายบุคคล และ หัวหน้างานว่าต้องการเอกสารอะไรบ้างในระหว่างลาคลอด หรือ ต้องการเอกสารทางการแพทย์หรือไม่ เพื่อทำเรื่องการลาคลอดหรือเบิกเงินทดแทนต่าง ๆ แต่ถ้าคุณทำงานในองค์กรเล็ก ๆ อาจไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว หรือ ข้อปฏิบัติเป็นเอกสาร ว่าสามารถลาได้กี่วัน คุณอาจจะต้องพูดคุย หรือ ต่อรองกับนายจ้างโดยตรง เพื่อให้ได้วันลาคลอดที่เหมาะ รวมถึงเงินสมทบและรายได้ต่าง ๆ หลังคลอดค่ะ
9. ตรวจสอบความพร้อมก่อนการลาคลอด
คุณต้องคิดให้ได้ก่อนการลาคลอดว่าคุณจะสามารถกลับมาทำงานได้อีกหรือไม่ สามารถทำงานตำแหน่งเดิมได้หรือไม่ ถ้าคุณไม่สามารถกลับมาทำงานได้แล้ว ให้แจ้งหัวหน้างานไปเลยเป็นการลาคลอด และอาจจะลาออกเพื่อไปเลี้ยงลูกเลย ให้ทางหัวหน้างาน หรือ ฝ่ายบุคคล หาพนักงานใหม่ไว้สำรองได้เลย หรือ อาจจะให้เลื่อนคนอื่นขึ้นมาทำงานในตำแหน่งของคุณได้เลย โดยไม่มีข้อขัดแย้งกันค่ะ และคุณควรจะแจ้งเรื่องนี้ก่อนลาคลอดประมาณ 1 เดือนค่ะ
10. คุณมีอำนาจต่อรองกับบริษัทแค่ไหน
คุณแม่บางคนที่คิดจะลาคลอดไปแล้วมีเหตุฉุกเฉิน ว่าอาจจะต้องลามากกว่าที่บริษัทกำหนด และยังต้องการกลับไปทำงานในตำแหน่งเดิม ให้ดูว่าคุณมีอำนาจต่อรอง กับหัวหน้างานได้มากแค่ไหน นโยบายบริษัทของคุณเอื้อประโยชน์ให้ในส่วนนี้หรือไม่ เพราะคุณแม่บางคนก็มีเหตุขัดข้องที่ต้องลาคลอดเกินกำหนดเหมือนกันค่ะ
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ