ทำความรู้จักกับโรค LD หรือ ภาวะความบกพร่องในการเรียนรู้ กันค่ะ
โรค LD (Learning Disorders) หรือ ภาวะความบกพร่องในการเรียนรู้ เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง ที่ไม่สามารถถอดรหัสตัวอักษรออกมาได้ (เชื่อมโยงภาพตัวอักษรเข้ากับเสียงไม่ได้) สาเหตุเกิดจากพันธุกรรม หรือในกลุ่มที่คุณแม่มีปัญหาในระหว่างตั้งครรภ์หรือหลังคลอด อาจเกิดจากการบาดเจ็บทางสมองจากการคลอด หรือเด็กเคยได้รับสารพิษ เช่นสารตะกั่ว เข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานาน
เด็กที่เป็นโรค LD จะมีระดับสติปัญญาอยู่ในเกณฑ์ปกติ หรือบางคนก็ฉลาดกว่าเด็กคนอื่น แต่จะมีปัญหาการเรียนรู้บางด้านหรือหลายๆด้าน ทำให้ไม่สามารถเรียนร่วมกับเด็กทั่วไปได้ ภาวะความบกพร่องในการเรียนรู้นี้พบได้ถึงร้อยละ 10 และมักพบมากในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง
โรค LD หรือ ภาวะความบกพร่องในการเรียนรู้ แบ่งได้เป็น 4 ประเภทดังนี้
- ภาวะความบกพร่องในด้านการอ่าน เช่น ผันเสียงววรณยุกต์ไม่ได้ อ่านการจากเดา ไม่รู้ความหมายของคำที่อ่าน เป็นต้น
- ภาวะความบกพร่องในด้านการเขียน เช่น เขียนตัวอักษรกลับด้าน ลากเส้นวนๆซ้ำๆไม่มีทิศทาง ลบบ่อยๆและเขียนทับในข้อความเดิมๆ เป็นต้น
- ภาวะความบกพร่องในด้านการคำนวณ เช่น นับเลขไปข้างหน้าหรือถอยหลังไม่ได้ ไม่เข้าใจค่าของหลักหน่วย หลักสิบฯ ไม่เข้าใจในเรื่องของเวลา ดูนาฬิกาไม่เป็น เป็นต้น
- ภาวะความบกพร่องในหลายๆด้านรวมกัน เด็กจะมีปัญหาในเรื่องของการฟังคำสั่ง ลำดับเหตุการณ์ไม่ได้ ไม่จดจำบทเรียนได้เลย เป็นต้น
แต่คุณพ่อคุณแม่ควรแยกแยะระหว่างเด็กที่เป็นโรค LD กับเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนอันเนื่องจากระบบการสอนที่ไม่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กตามวัยนะคะ เช่น การเร่งให้เด็กเขียนหนังสือในขณะที่พัฒนาการกล้ามเนื้อของเด็กยังไม่พร้อม ทำให้เกิดความบกพร่องด้านการเรียนได้ จึงไม่จัดอยู่ในกลุ่มของเด็กที่เป็นโรค LD ค่ะ
เด็กที่มีเป็นโรค LD มักมีปัญหาด้านอารมณ์ และอาจแสดงพฤติกรรมที่ก้าวร้าว ไม่มีสมาธิในการเรียน ทำงานสะเพร่า ความจำไม่ดี และขาดความมั่นใจในตัวเอง บางคนอาจมีปัญหากับเพื่อนหรือครูที่โรงเรียน ทำให้รู้สึกเบื่อหน่าย ไม่อยากไปโรงเรียน หากคุณพ่อคุณแม่เข้าใจ และใส่ใจแก้ปัญหา เสริมในทักษะที่บกพร่อง พยายามค้นหาความสามารถพิเศษและพัฒนาความสามารถนั้นให้ดียิ่งๆขึ้นไป เด็กก็จะสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขนะคะ
จาก : แม่รักลูก Photo Credit : visiontherapyblog.com