ในช่่วงเวลาตั้งครรภ์คุณแม่ต้องเจอกับอาการต่าง ๆ เรียกได้ว่าออกอาการกันตั้งแต่ในช่วงเริ่มแรกของการตั้งครรภ์เลยก็ว่าได้ ซึ่งอาการที่เกิดขึ้นกับคุณแม่ตั้งครรภ์ในแต่ละช่วงก็จะปรับเปลี่ยนไปตามลักษณะของฮอร์โมน และสภาพร่างกายที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ สำหรับคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มาจนถึงช่วงสุดท้ายนี้ ต้องเจอกับอาการอะไรบ้าง? เรามาดูกันค่ะ
6 อาการแบบนี้ที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเจอเมื่อท้องแก่
1.อาการ จุกเสียด แน่นท้อง กรดไหลย้อน ในคนท้อง
อาการจุกเสียดแน่นท้องมักจะเกิดขึ้นในช่วงอายุครรภ์มากขึ้น สาเหตุมาจากการขยายตัวของมดลูกที่มีขนาดใหญ่ขึ้นตามการเจริญเติบโตของลูกน้อยในท้องนั่นเอง เพราะเมื่อมดลูกขยายตัว ทำให้กระเพาะอาหารถูกบีบกดตามไปด้วย
ดังนั้น เมื่อแม่ท้องรับประทานอาหารเข้าไปทำให้มีกรดในกระเพาะอาหาร ส่วนหนึ่งไหลย้อนกลับขึ้นไปบริเวณทรวงอก จึงเกิดอาการแสบร้อนบริเวณทรวงอกได้ หรือที่เรียกกันว่า กรดไหลย้อน นั่นเอง อาการจุกเสียดหรือกรดไหลย้อนนี้ มักจะเกิดหลังจากรับประทานอาหารประมาณ 1 ชั่วโมง
วิธีแก้ไข
1.ให้แบ่งการรับประทานอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ ประมาณ 5 – 6 มื้อ แต่ละมื้อรับประทานทีละน้อย แต่ทานบ่อยครั้งขึ้น หรือระหว่างมื้อให้ดื่มน้ำขิง ดื่มนมหรือน้ำเต้าหู้แทนก็ได้ เพราะจะช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร
2.รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย เช่น ปลา เต้าหู้ ไข่ ผัก ผมไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน หรือของทอด อาหารรสเผ็ด น้ำอัดลมทุกชนิด รวมถึงอาหารที่ย่อยยาก เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู
3.กรณีจุกเสียดแน่นบริเวณลิ้นปี่และชายโครงด้านขวา รวมกับอาการบวมตามตัว ความดันสูง แบบนี้ไม่ดีแน่ ต้องรีบไปพบคุณหมอเพราะเสี่ยงเป็นความดันสูงในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อคุณแม่และทารกน้อยในครรภ์ได้
2.อาการปวดหลังในคนท้อง
แน่นอนว่า ท้องที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้น ย่อมส่งผลต่อหลังของคุณแม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ส่งผลกับกระดูกข้อต่อ เชิงกราน รวมถึงเอ็นยึดข้อต่อกระดูกสันหลังเกิดอาการหย่อนตัว ส่งผลให้หลังบริเวณช่วงเอวจะแอ่นมาข้างหน้า สังเกตว่า ในช่วงไตรมาสที่สาม โดยเฉพาะ 8 – 9 เดือน คุณแม่จะมีลักษณะอุ้ยอ้าย เดินแอ่นตัวมาข้างหน้าแทบทุกคน จึงทำให้เกิดอาการปวดเอว หลังยอก และอาจมีอาการปวดร้าวไปยังบริเวณก้นกบได้
วิธีแก้ไข
1.คุณแม่ต้องพยายามทรงตัวให้ถูกท่า ท่านั่ง พยายามให้หลังตรง อาจหาหมอนเล็ก ๆ มารองบริเวณหลังจะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังได้
2.ท่านอน ให้นอนตะแคง นำหมอนมารองรับช่วงท้องจะช่วยให้คุณแม่หายใจได้สะดวกขึ้น และนอนหลับได้สบายมากขึ้น
3.การยืนและเดิน ควรใส่รองเท้าส้นเตี้ย จะช่วยในการทรงตัวและแก้ปัญหาปวดหลังได้
3.ริดสีดวงทวาร ในคนท้อง
ริดสีดวงทวาร เป็นอาการที่เกิดขึ้นในช่วงคุณแม่ท้องแก่ เกิดจากสาเหตุ 2 ประการ คือ
1.เกิดจากมดลูกที่ขยายขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้ไปกดทับเส้นเลือดบริเวณกระดูกเชิงกราน ทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี
2.ท้องผูก ส่วนหนึ่งเกิดจากมดลูกกดทับเส้นเลือดทำให้การไหลเวียนไม่สะดวก ประกอบกับการรับประทานอาหารที่ย่อยยากหรือไม่มีกากใย หรือดื่มน้ำน้อยเกินไป เหล่านี้ล้วนส่งผลให้เกิดอาการท้องผูกได้ค่ะ
วิธีแก้ไข
คุณแม่ไม่ต้องวิตกกังวลมากเกินไปนะคะ เพราะหลังคลอดแล้วอาการต่าง ๆ เหล่านี้จะค่อย ๆ ลดลงจนเป็นปกติ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลตนเองของคุณแม่ด้วนนะคะ
1.คุณแม่ควรทานอาหารที่ย่อยง่าย มีกากใย ดื่มน้ำให้มากและบ่อยครั้ง ช่วยให้ขับถ่ายสะดวกขึ้นค่ะ นอกจากนี้การขับถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลา เพื่อฝึกนิสัยการขับถ่ายที่ดีช่วยลดปัญหาท้องผูกได้
2.การรักษาริดสีดวงทวารหนักเบื้องต้น คือ นั่งแช่น้ำอุ่นจัด โดยให้บริเวณก้น แช่ในน้ำอุ่นจัดประมาณ 5 – 10 นาที หากจำเป็นต้องใช้ยาเหน็บ หรือยาสอด ต้องปรึกษาคุณหมอทุกครั้ง เพราะอาจเกิดอันตรายต่อคุณแม่และทารกน้อยได้
4.อาการเส้นเลือดขอด ในคนท้อง
อาการเส้นเลือดขอดของแม่ท้อง ส่วนมากจะพบบริเวณหลังเท้าและหลังข้อพับเข่า ซึ่งนอกจากจะมีเส้นเลือดบวมนูนขึ้นมาให้เห็นอย่างเด่นชัดแล้ว ยังมีอาการปวดขาอีกด้วย
สาเหตุของเส้นเลือดขอดในช่วงตั้งครรภ์
1.มาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในเลือดที่มีผลต่อผนังหลอดเลือดของเรา ทำให้การไหลเวียนไม่สะดวกและความเข้มข้นของเลือดเปลี่ยนแปลงไป
2.มดลูกขยายใหญ่ขึ้นจนไปกดทับเส้นเลือดที่ลำเลียงเลือดกลับเข้าสู่หัวใจ ทำให้เลือดคั่งค้างอยู่และทำให้ผนังของหลอดเลือดยืดหยุ่นน้อยลง
วิธีป้องกันและรักษา
1.เวลานอนเอาหมอนมารองขาให้ส่วนของขาและเท้าสูงกว่าส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้สะดวกขึ้น
2.ไม่อยู่ในท่าหนึ่งท่าใดนาน ๆ เช่น นั่งทำงานอยู่กับที่นานเกินไป ยืนนานเกินไป ควรเปลี่ยนท่าทางลุกเดินไปมาบ้าง เพื่อให้เลือดหมุนเวียนได้ดีขึ้น
3.ไม่นั่งงอขาหรือพับขาเป็นเวลานาน ๆ เพราะอาจจะเป็นต้นเหตุของเส้นเลือดขอดได้ ทางที่ดีควรนั่งยืดขาออกบ้าง
4.นวด เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย เลือดไหลหมุนเวียนสะดวก ช่วยลดอาการเส้นเลือดขอดได้ ซึ่งคุณแม่สามารถทำเองได้ที่บ้านค่ะ ใช้มือบีบกล้ามเนื้อน่อง จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตได้ดี
5.อาการนอนไม่หลับของคนท้อง
อาการสุดฮิตติดโผของแม่ท้องแก่ทุกคนก็ว่าได้ นอนไม่หลับเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สำหรับแม่ท้องแก่ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่สบายกาย เพราะหายใจค่อนข้างลำบาก ปวดปัสสาวะบ่อยประเดี๋ยวลุกเข้าห้องน้ำ ปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอก หรือเกิดจากลูกน้อยในครรภ์ดิ้นทักทาย รวมไปถึงไม่สบายใจ วิตกกังวลเรื่องการคลอด อาการใกล้คลอดต่าง ๆ
อาการนอนไม่หลับของคนท้องนั้นหากฟังดูเผิน ๆ คิดว่าไม่น่าจะมีอะไรรุนแรง แต่ความจริงแล้วการนอนไม่หลับของคนท้องนั้น เรื่องใหญ่นะคะ เพราะอาจส่งผลต่อลูกในครรภ์ได้ หากพักผ่อนไม่เพียงพออาจทำให้คุณแม่เกิดอาการอ่อนเพลียและการเจ็บป่วยได้ ดังนั้น หากช่วงเวลากลางคืนนอนไม่ค่อยหลับหรือหลับไม่สนิท กลางวันคุณแม่ควรหาเวลางีบหลับเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนบ้างนะคะ
วิธีแก้ไข
1.ดื่มนมอุ่นสักแก้วก่อนนอน จะช่วยให้คุณแม่นอนหลับได้ดีขึ้น
2.งดดื่มเครื่องดื่มมีคาเฟอีนเป็นส่วนผสมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น ชา กาแฟ น้ำอัดลม โกโก้ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้คุณแม่นอนไม่หลับหรือหลับยากขึ้น
3.อาบน้ำอุ่นก่อนเข้านอน จะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย ทำให้หลับสบายขึ้น
4.ฝึกสมาธิก่อนเข้านอนเพื่อให้จิตใจสงบ
5.เข้านอนให้ตรงเวลาทุกคืน และตื่นตามเวลาเดียวกันเพื่อฝึกนิสัยการนอนที่ดี
6.ภายในห้องนอนควรสร้างบรรยากาศในการนอนให้เงียบสงบ เย็นสบายอากาศถ่ายเท และไม่มีแสงรบกวน
6.เหนื่อย อ่อยเพลีย วิงเวียน หน้ามืด
เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่สาม โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่ 8 – 9 ร่างกายของคุณแม่จะอุ้ยอ้ายเดินเหินไม่ค่อยสะดวก เนื่องจากน้ำหนักตัวของลูกน้อยที่มากขึ้นและเจริญเติบโตค่อนข้างจะเต็มที่เพื่อเตรียมออกมาดูโลก ในช่วงนี้คุณแม่จะรู้สึกเหนื่อยและอ่อนเพลียได้ง่ายกว่าปกติ และอาจวิงเวียนหน้ามืด การหายใจของคุณแม่หายใจเร็วและถี่ขึ้น บางครั้งทำให้รู้สึกเหมือนจะเป็นลมได้
วิธีแก้ไข
1.หลีกเลี่ยงการนอนหงายหรือนอนราบนาน ๆ ในช่วงท้องแก่ ให้เปลี่ยนมาเป็นนอนตะแคง หรือท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนจะช่วยให้คุณแม่รู้สึกดีขึ้น
2.หากรู้สึกเหมือนจะเป็นลม ให้ค่อย ๆ นั่งลง แล้วเอนตัวนอนในท่าตะแคงหรือนั่งลงแล้วก้มหัวให้อยู่ระหว่างหัวเข่าทั้งสอง ซึ่งไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม คุณแม่ต้องระมัดระวังไม่ให้ล้มลงเพราะจะเป็นอันตรายต่อลูกในท้องได้
เป็นไงกันบ้างคะ กับอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคุณแม่ท้องแก่ ที่อีกไม่นานเกินรอ ก็จะได้พบหน้าเจ้าตัวน้อยที่รอคอยมาตลอด 9 เดือนแล้ว ที่สำคัญอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงตั้งครรภ์ จะค่อย ๆ ดีขึ้นเมื่อคุณแม่คลอดลูกแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ก็ใช้เวลาไม่นาน คุณแม่ ๆ ก็จะกลับมาสวยเหมือนเดิมแล้วนะคะ อดใจรออีกไม่นาน
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ