โรคมะเร็งเป็นโรคที่มีการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของคนไทย คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า หากป่วยเป็นโรคมะเร็งต้องตายอย่างเดียวเท่านั้น ปัจจุบันโรคมะเร็งไม่ได้พบผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่เท่านั้น เด็ก ๆ ก็สามารถป่วยเป็นโรคมะเร็งได้ สถิติที่สถาบันมะเร็งรายงานล่าสุดพบว่า โรคมะเร็งในเด็ก อายุต่ำกว่า 15 ปี ที่พบบ่อยที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1.มะเร็งเม็ดเลือดขาว 2.กลุ่มเนื้องอกในสมองที่มีทั้งส่วนที่เป็นมะเร็ง และไม่ได้เป็นมะเร็ง 3.มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และอันดับที่ 4-5 เป็นมะเร็งที่ระบบประสาท เป็นต้น
สาเหตุของโรคมะเร็งในเด็ก
โรคมะเร็งในเด็กโดยเฉพาะในเด็กเล็ก จะมีความแตกต่างจากมะเร็งในผู้ใหญ่ แต่จะมีโอกาสเกิดหรือมีความเสี่ยงน้อยกว่าการเกิดโรคมะเร็งในผู้ใหญ่ สาเหตุของโรคมะเร็งในเด็ก มีดังนี้
1.เกิดจากพันธุกรรม โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เกิดจากความผิดปกติของยีน (Genes)
2.เกิดจากการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิด หรือติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด
3.เกิดจากสิ่งแวดล้อม ทำให้ได้รับสารเคมีบางชนิดในปริมาณที่สูง หรือในช่วงตั้งครรภ์แม่ท้องรับประทานอาหารที่มีสารพิษเจอปน โดยเฉพาะปลาร้าและ ไส้กรอก ในปริมาณมาก รวมถึงแม่ท้องที่ดื่มเหล้าจะทำให้ลูกมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวของลูก
- รังสีเอกซ์(x-rays) คือ รังสีที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรค ทำให้เสี่ยงเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว
วิธีการสังเกตโรคมะเร็งในเด็ก
โรคมะเร็งโดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถบอกอาการที่ตัวเองรู้สึกได้ ไม่เหมือนกับเด็กโตที่สามารถบอกอาการได้ ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตให้ละเอียดอย่างมาก แม้ว่าโรคมะเร็งจะไม่แสดงอาการดังเช่นโรคอื่น ๆ แต่การสังเกตหากพบความผิดปกติ ดังนี้ ควรรีบปรึกษาคุณหมอโดยด่วนนะคะ อาการพบบ่อยของโรคมะเร็งในเด็ก คือ
1.มี หรือ คลำได้ก้อนเนื้อผิดปกติ
2.มีไข้บ่อย
3.ผอมลงโดยหาสาเหตุไม่ได้
4.ซีด หรือมีจุด/จ้ำ/ห้อเลือดง่าย
5.อ่อนเพลียง่าย ไม่ซุกซนเหมือนเคย หรือโยเยผิดปกติ
ระยะต่าง ๆ ของ โรคมะเร็งในเด็ก
โรคมะเร็งโดยทั่วไปมีระยะการลุกลามและแพร่กระจายของโรค แบ่งออกเป็น 4 ระยะ โรคมะเร็งในเด็กมีลักษณะการลุกลามเช่นเดียวกับโรคมะเร็งของผู้ใหญ่ คือ
ระยะที่ 1
พบแผลหรือก้อนมะเร็ง ที่มีขนาดเล็ก และยังอยู่เฉพาะที่ หรือยังอยู่บริเวณอวัยวะที่เกิด ยังไม่ลุกลามเข้าไปในเนื้อเยื่อหรืออวัยวะที่อยู่ข้างเคียง
ระยะที่ 2
แผลหรือก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้น และเริ่มลุกลามไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียงแต่เป็นการเริ่มต้นเท่านั้น
ระยะที่ 3
แผลหรือก้อนมะเร็งโตขึ้นมาก และเริ่มลุกลามเข้าไปยังเนื้อเยื่อหรืออวัยวะข้างเคียง รวมถึงลุกลามเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองใกล้กับอวัยวะที่พบก้อนเนื้อหรือแผลจากโรคมะเร็ง
ระยะที่ 4
โรคมะเร็งแพร่เข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองและเริ่มลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ หรือแพร่กระจายไปตามหลอดเลือด การลุกลามและแพร่กระจายมักจะเริ่มจากปอด ตับ ไขกระดูก กระดูก และสมอง
หากเป็นโรคมะเร็งระบบเลือด (Hematology) เช่น มะเร็งเม็ดเลือดขาว เมื่อเกิดโรคจะลุกลาม แพร่กระจายได้รวดเร็วและรุนแรง จากนั้นจะแพร่กระจายไปที่ไขกระดูกลุกลามทั้งตัว จึงมีโอกาสเสียชีวิตได้ในเวลาอันรวดเร็ว
แนวทางการรักษา
การรักษามะเร็งในเด็ก มีแนวทางเดียวกับการรักษามะเร็งในผู้ใหญ่ มี 3 วิธีหลัก ที่ใช้ในการรักษา คือ การผ่าตัด การให้เคมีบำบัด และการรักษาแบบรังสีวิทยา
1.ผ่าตัด หากมะเร็งมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อ
2.เคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคมะเร็งทุกคนจำเป็นต้องรักษาโดยใช้เคมีบำบัด
3.การรักษาโดยใช้รังสี คือ การฉายแสงโดยการยิงรังสีลงไปยังก้อนมะเร็งโดยตรงแทนการผ่าตัด วิธีนี้จะไม่ทำลายเนื้อที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
4.การปลูกถ่ายไขกระดูก จะใช้รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งระบบโลหิต
สำหรับการรักษามะเร็งในเด็ก มักตอบสนองดีต่อการรักษา โดยใช้เคมีบำบัด และรังสีรักษาแต่ทั้งสองวิธีนี้ ให้ผลข้างเคียงแทรกซ้อนกับเด็กเช่นกัน เช่น มีไข้ หนาวสั่น ซีด เหนื่อย อ่อนเพลีย มีจุดเลือดจ้ำเลือดตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บปากเจ็บคอ ท้องเสีย อาการเหล่านี้มักเกิดหลังจากได้รับยาประมาณ 7-14 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มดีขึ้น
การดูแลหลังจากครบขั้นตอนการรักษา
1.เมื่อครบขั้นตอนการรักษาแล้ว คุณหมอจะนัดดูแลอาการอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อดูการตอบสนองต่ออาการรักษา และป้องกันการกลับมาเป็นโรคซ้ำอีก
2.ความถี่ในการนัดตรวจ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคมะเร็งและโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียง ตามปกติคุณหมอมักจะนัดตรวจ ทุก 3-4 สัปดาห์ ปีที่ 2-3 ทุก 1-3 เดือน ใน ปีที่ 4-5 ทุก 3-6 เดือน และ ภายหลัง 5 ปีไปแล้ว ทุก 6-12 เดือน
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ