คุณแม่หลายท่านที่ไปฝากครรภ์ แล้วคุณหมอจะให้ตรวจภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ด้วยการกลืนน้ำตาลนั้น เป็นเพราะว่าคุณแม่เหล่านั้นมีปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั่นเองค่ะ
ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานขณะตั้งครรภ์
- คุณแม่มีน้ำหนักตัวมากเกินมาตรฐาน
- คุณแม่ตั้งครรภ์มีอายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไป
- มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยด้วยโรคเบาหวานและมีความดันโลหิตสูงร่วมด้วย
- เคยมีประวัติการคลอดที่ผิดปกติมาก่อน เช่น การแท้ง ทารกเสียชีวิตในครรภ์ หรือคลอดทารกที่มีน้ำหนักเกิน 4,000กรัม เป็นต้น
เพราะอะไรหญิงตั้งครรภ์ถึงมีโอกาสเป็นเบาหวานมากกว่าปกติ
เพราะเมื่อตั้งครรภ์ รกจะสร้างฮอร์โมนบางชนิดที่มีฤทธิต่อต้านฮอร์โมนอินสุลินที่คอยคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ถ้าสภาวะนี้ไม่ได้รับการควบคุม จะทำให้มีผลกระทบต่อทั้งตัวมารดาและทารกในครรภ์ได้
หากเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ มีผลกระทบอย่างไร
ผลต่อมารดา
- อาจทำให้เกิดครรภ์เป็นพิษ
- ภาวะเสื่อมของหลอดเลือด ตา ไต
- ความดันโลหิตสูง
- ติดเชื้อได้ง่าย
ผลต่อทารกในครรภ์
- เด็กอาจมีน้ำหนักตัวมาก เป็นอุปสรรคในการคลอด
- อาจคลอดก่อนกำหนด
- อาจเสียชีวิตในครรภ์
การทดสอบภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ทำได้อย่างไร
การทดสอบภาวะเบาหวานในหญิงมีครรภ์ที่มีความเสี่ยง จะกระทำเมื่ออายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์ค่ะ หรือในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์คนไหนมีความเสี่ยงสูงมาก ก็จะให้ทดสอบเลยตั้งแต่วันที่ฝากครรภ์ก็ได้ โดยแพทย์จะให้กลืนน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม แล้วตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากนั้น 1 ชั่วโมงค่ะ หากพบว่าระดับน้ำตาลเท่ากับหรือมากกว่า 140 มก./ดล. แสดงว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ค่ะ
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ