fbpx
Homeการตั้งครรภ์สุขภาพช่วงตั้งครรภ์ไขข้อข้องใจทำไมมดลูกแตก ไม่อยากเสี่ยงต้องดูแลตัวเองแบบนี้!

ไขข้อข้องใจทำไมมดลูกแตก ไม่อยากเสี่ยงต้องดูแลตัวเองแบบนี้!

ตามปกติแล้วมดลูกของคนเราจะไม่แตกง่าย ๆ กันหรอกนะคะ แต่เมื่อไรที่แตกถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่ฉุกเฉินและอันตรายจริง ๆ  ตามปกติแล้วมดลูกของคนเราจะมีเส้นเลือดแดงไปเลี้ยงทั้งทางด้านซ้ายและด้านขวา  หากเส้นเลือดเกิดการฉีกขาด  ประมาณว่าภายในเวลา 5 นาที จะทำให้เสียเลือดได้ถึง 4 ลิตรจนเลือดเกลี้ยงตัวทีเดียว น่ากลัวจริง ๆ นะคะ  มาดูกันดีกว่าค่ะว่า ทำไมมดลูกถึงแตกได้

ปัจจัยเสี่ยง “มดลูกแตก”

1.มดลูกมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดมีรูปทรงที่ผิดปกติ เช่น  เป็นรูปหัวใจ  มีเยื่อกั้นเป็นสองช่อง มี 2 มดลูก  กรณีเช่นนี้ทำให้มดลูกอ่อนแอและอาจแตกได้ง่ายกว่าปกติ

2.มีแผลผ่าตัด โดยเฉพาะแผลที่เกิดจากการผ่าตัดแบบตรงที่ตัวมดลูก  ยิ่งทำให้มดลูกนั้นเปราะบางและแตกง่ายถ้ามีการตั้งครรภ์ติด ๆ กัน

3.คุณแม่ที่มีลูกตั้งแต่ 4คนขึ้นไป มดลูกจะมีความอ่อนแอมากกว่าปกติ

4.แม่ท้องที่มีอายุมากกว่า 35 ปี

5.มีปัญหาเรื่องรกผิดปกติ เช่น รกเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด รกเกาะติด  เป็นต้น

6.มดลูกขยายมาก เช่น  ตั้งครรภ์ลูกฝาแฝด  ตั้งครรภ์แฝดน้ำ ทารกอยู่ในครรภ์ในท่าขวาง

7.คลอดยาก  อุ้งเชิงกรานของคุณแม่ไม่ได้สัดส่วนกับศีรษะของทารก

8.เคยผ่าคลอดแล้วในท้องแรก ท้องสองทดลองคลอดเองตามธรรมชาติอาจส่งผลให้มดลูกแตกได้

9.ใช้ยาเร่งคลอด เช่น สารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) หรือออกซิโตซิน (Oxytocin)

10.ใช้เครื่องมือช่วยคลอด  ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดูดสุญญากาศ  หรือคีมช่วยคลอดอาจส่งผลทำให้มดลูกแตกได้

11.ช่วยคลอดทางช่องคลอดโดยการ “ดัน” หรือ “ข่ม” มดลูก

12.มดลูกได้รับบาดเจ็บ เช่น จากอุบัติเหตุรถชน  มีการกระแทกหรือกระทบกระเทือนอย่างหนักบริเวณท้องน้อยหรือบริเวณอุ้งเชิงกราน

13.ใช้หัตถการทำคลอด เช่น ใช้มือล้วงเข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อหมุนทารกจากท่าขวางให้เป็นท่าก้นหรือท่าศีรษะ

อาการที่บ่งบอกว่าอาจมดลูกแตกได้

1.ปวดท้องอย่างรุนแรง

2.ตกเลือดภายในช่องคลอด

3.หัวใจของทารกเต้นผิดปกติ แสดงว่า ทารกน้อยกำลังขาดออกซิเจนและอยู่ในภาวะอันตรายถึงชีวิต

4.ทารกเสียชีวิตในครรภ์

5.แม่ท้องช็อกหมดสติเพราะเสียเลือดมาก

6.ทารกหลุดออกจากมดลูกมาลอยอยู่ในท้อง ทำให้สามารถคลำทารกได้ชัดเจน

มดลูกแตก ผลกระทบต่อทารก

1.ทารกเสียชีวิตในครรภ์หรือในตอนคลอดสูงถึงร้อยละ 7

2.ทารกที่รอดชีวิต 1 ใน 3 สมองจะขาดออกซิเจน อาจส่งผลต่อการเจริญเติบโต

3.หลังจากคลอดแล้วส่วนใหญ่ทารกน้อยต้องอยู่ในห้อง NICU เด็ก เพราะมีความเสี่ยงต่อชีวิตสูงกว่าเด็กที่คลอดปกติ

มดลูกแตก ผลกระทบต่อแม่

1.มดลูกแตกส่งผลให้กระเพาะปัสสาวะอาจเกิดการฉีกขาด  รั่ว มีเลือดออกได้

2.แม่ท้องที่มดลูกแตกจะเสียเลือดจำนวนมาก จำเป็นต้องให้เลือดทดแทน

3.คุณแม่ที่มดลูกแตกจำนวน 1 ใน 3 ที่เกิดอาการช็อก ต้องช่วยชีวิตอย่างรีบด่วน

4.แม่ท้องที่มีอากรมดลูกแตกมักจะลงท้ายด้วยการตัดมดลูกออก

5.แม่ท้องที่มดลูกแตกมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าปกติ

ป้องกันอย่างไรไม่ให้ “มดลูกแตก”

1.หากตั้งครรภ์เมื่ออายุมากกว่า 35 ปี ต้องปรึกษาคุณหมอเพื่อดูแลครรภ์อย่างใกล้ชิด

2.มีลูกไม่เกิน 4 คน

3.ควรคลอดเองตามธรรมชาติ

4.หากทารกตัวโตเกินไป คลอดยาก ควรผ่าคลอดมากกว่าใช้ยาหรือเครื่องมือช่วยคลอด

5.หากเคยผ่าตัดมดลูกหรือผ่าตัดคลอด โดยเฉพาะบาดแผลในแนวตั้ง โอกาสเสี่ยงมดลูกแตกมีสูงกว่าแผลผ่าคลอดในแนวขวาง ดังนั้น ครรภ์ต่อไปไม่ควรทดลองคลอดเอง

6.แม่ตั้งครรภ์ไม่ควรขับขี่มอเตอร์ไซค์ เพราะโอกาสเกิดอุบัติเหตุมีสูงและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะอาจส่งผลต่อมดลูกและอุ้งเชิงกรานโดยตรง

7.เมื่อตั้งครรภ์ใกล้คลอดคุณแม่ต้องหมั่นสังเกตตนเองว่าลูกดิ้นทุกวันหรือไม่ หรือดิ้นน้อยลงหรือไม่ เพราะบางครั้งอาการที่ลูกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้นอาจเป็นไปได้ว่ามดลูกกำลังปริหรือกำลังจะแตกได้

อย่างไรก็ตามในช่วงตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องระมัดระวังตนเองให้ดีและไม่ทำกิจกรรมใด ๆ ก็ตามที่เสี่ยงอันตรายเพราะอาจส่งผลเสียด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้  หากพบความผิดปกติต้องรีบแจ้งคุณหมอและไปโรงพยาบาลโดยด่วนค่ะ

เรื่องอื่นๆ ที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular