ทารกน้อยเมื่อคลอดออกมาลืมตาดูโลกแล้วนั่นก็เท่ากับว่าเค้าพร้อมที่จะเผชิญกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่บนโลกนี้แล้วค่ะ เพราะระหว่างอยู่ในท้องก็ได้เรียนรู้และพัฒนาร่างกายมาตลอด 9 เดือนเต็มๆ และสิ่งที่ทารกทุกคนต้องทำเหมือนกันตอนคลอดออกมา นั่นก็คือ การส่งเสียงร้อง มาดูกันค่ะว่า ทารกในสัปดาห์แรกที่คลอดออกมานั้นจะมีพัฒนาการเป็นอย่างไรบ้าง?
ความมหัศจรรย์ของทารกเมื่อออกจากท้องแม่
1.ตัวเท่านี้ก็รู้จักหัวนมแม่ ลูกรู้ว่าหัวนมแม่ไม่เหมือนผิวหนังส่วนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้ ๆ และลูกก็รู้ด้วยว่าหัวนมแม่กับจุกนมขวดนั้นไม่เหมือนกัน หัวนมแม่นิ่มกว่า คุณอาจจะเห็นลูกมีความสามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนคือคน สิ่งไหนคือวัตถุสิ่งของที่ไม่เคลื่อนไหว เพราะนักวิจัยด้านการรับรู้ของเด็ก พบว่า ปฏิกิริยาของทารกแรกเกิดที่มีต่อสิ่งของและคนที่เด็กมองเห็นได้ (ในระยะ 6 – 7นิ้ว) นั้น แตกต่างกัน
2.รู้ว่าเวลาใดควรได้รับนม ลูกจะมีท่าทางบอกให้รู้ และถ้าหากว่าไม่ได้กินนมตามเวลาที่เคยกิน ลูกจะมีท่าทางไม่พอใจ โยเยขึ้นมาทันที
3.รู้จักสนใจสิ่งใหม่ๆ คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้ว่า บ่อยครั้งที่ลูกกำลังให้ความสนใจกับสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น มองเรื่อยไปตามฝาผนังห้อง ดูนั่นดูนี่ ถ้ามีสิ่งใหม่มาสะดุดตาลูก หรือมีสีสันชวนมอง ลูกจะหันเหความสนใจไปจากสิ่งอื่นที่มองอยู่ แล้วหันมาสนใจสิ่งใหม่ทันที
ทารกน้อยในสัปดาห์แรกมีพัฒนาการดังนี้ค่ะ
1.ช่วง 2 – 3 วันแรกของชีวิตลูกจะปฏิเสธนม ไม่ค่อยสนใจกินนัก เพราะร่างกายของลูกยังมีน้ำตาล ไขมัน และของเหลวที่สะสมเอาไว้ตั้งแต่ตอนอยู่ในท้องของแม่อย่างเพียงพอ ทำให้ยังไม่สนใจที่จะกินนมมากเท่าไรนัก
- นอนมาก ช่วงอาทิตย์แรก ๆ ลูกจะใช้เวลาไปกับการนอนวันละประมาณ 14 – 18 ชั่วโมง แต่เป็นการนอนที่ไม่ค่อยเป็นเวลา จะตื่นกลางคืนบ่อย แต่ลูกจะค่อย ๆ ปรับเวลาการนอนให้เป็นเวลามากขึ้น ภายในสัปดาห์ที่ 5 และหลังจากนี้พ่อกับแม่ก็ไม่ต้องแตะมือสลับกันมาดูลูกเวลากลางดึกบ่อย ๆ อีกแล้ว
3.ปฏิกิริยาสะท้อนกลับจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เช่น การหดมือหนีเวลาที่คุณแม่แตะสัมผัส การทำท่าเหมือนก้าวเดินและยกขาขึ้นเวลาอุ้มในท่ายืน ซึ่งยังไม่ใช่ความสามารถทางกายที่แท้จริงของลูก เพราะในความเป็นจริงแล้ว ความสามารถทางกายของเด็กยังมีข้อจำกัดอยู่มากในช่วงนี้
4.การควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย หลังคลอดใหม่ๆ ลูกจะสูญเสียความร้อนในร่างกายไปอย่างรวดเร็ว แต่ภายใน 1 วันร่างกายทารกจะปรับตัวได้ และเมื่อกลับมาอยู่บ้าน คุณแม่ต้องควบคุมอุณหภูมิให้คงที่อยู่เสมอ (37 องศาเซลเซียส) เช่น ใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมกับอากาศ อาบน้ำเสร็จต้องรีบเช็ดลูกให้แห้งและสวมเสื้อทันที หรือถ้าเปิดเครื่องปรับอากาศระมัดระวังอย่าให้อากาศหนาวเย็นเกินไป
5.การยิ้ม จะสังเกตว่าบางทีเจ้าตัวเล็กจะยิ้มหวานขึ้นมาเฉย ๆ แต่ยังไม่ถือว่าเป็นพัฒนาการนะคะ เพราะการยิ้มเช่นนี้เป็นเพียงการขยับกล้ามเนื้อใบหน้าเท่านั้น การยิ้มอย่างมีความหมาย จะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อลูกอายุราว ๆ 2 – 3 สัปดาห์
6.ขนอ่อนที่ขึ้นตามตัวลูกจะหลุดร่วงไปภายใน 2 สัปดาห์
7.สะดือของลูกน้อยจะแห้งหลุดไปภายใน 7 -10 วัน แต่ต้องขึ้นอยู่กับการดูแลรักษาความสะอาด เช็ดให้แห้งหลังจากอาบน้ำแล้ว ระมัดระวังอย่าให้เกิดการอักเสบใด ๆ
8.ขาโก่ง ทารกน้อยบางคนจะมีลักษณะขาโก่งตั้งแต่ยังเล็ก เพราะลูกอยู่ในท้องของแม่มาตั้ง 9 เดือน แต่ใน 1 สัปดาห์เท้าของลูกจะเริ่มเหยียดตรงได้ตามปกติ
9.ไวต่อการสัมผัสและรับกลิ่น ทารกช่วงวัย 1 สัปดาห์ จะไวต่อการสัมผัสทางกาย โดยเฉพาะไออุ่นของพ่อแม่ ดังนั้น การอุ้ม กอด ของพ่อแม่จะมีผลต่อพัฒนาการของลูกได้ดีที่สุด นอกจากนี้ทารกน้อยยังดมกลิ่นได้รวดเร็ว เจ้าหนูจะจดจำกลิ่นกายของแม่เป็นอันดับแรก และทุกครั้งที่ลูกได้กลิ่นกายแม่จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นและสบายใจ
10.น้ำหนักตัวลดลงในสัปดาห์แรก เมื่อเทียบกับวันที่แรกคลอด เพราะเจ้าตัวเล็กคลอดออกมาจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอนหลับเสียมากกว่า
ได้ทราบกันแล้วนะคะคุณพ่อคุณแม่ว่าทารกน้อยอายุ 1 สัปดาห์ มีพัฒนาการเป็นอย่างไรและสามารถทำอะไรได้บ้าง สิ่งสำคัญการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การสัมผัสโอบอุ้ม การกอด จะช่วยกระตุ้นพัมนาการให้ลูกได้อย่างดีที่สุดค่ะ
เรื่องอื่นๆ ที่เราแนะนำสำหรับคุณ