fbpx
Homeพัฒนาการเด็กพัฒนาการเด็กวัยแรกเกิด – 1 ขวบพัฒนาการที่สำคัญของลูก ตั้งแต่อายุ 1 เดือนจนถึง 1 ขวบ

พัฒนาการที่สำคัญของลูก ตั้งแต่อายุ 1 เดือนจนถึง 1 ขวบ

ในแต่ละเดือนหลังจากทารกคลอดออกมาแล้วจะมี พัฒนาการที่สำคัญของลูก ซึ่งสามารถทำให้พ่อแม่ยิ้มได้เมื่อเห็น คำว่าระยะสำคัญ (milestone) ของทารกแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไป แต่ส่วนใหญ่จะถึงระยะพัฒนาการที่สำคัญเมื่ออายุใกล้เคียงกัน

ทักษะระยะสำคัญแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ

1.ทักษะระยะ “หยาบ” สัมพันธ์กับการเคลื่อนไหว ได้แก่  ชันคอ  กลิ้ง  คลาน  เดิน ถือเป็นทักษะทางกายอย่างหยาบ

2.ทักษะระยะ “ละเอียด”  เป็นการเคลื่อนไหวที่ลูกทำด้วยมือและนิ้วมือ เช่น  หยิบจับ ชี้  กำมือ แบมือ  นอกจากนี้ยังมีระยะสำคัญทางจิตใจ ความรู้สึก  อารมณ์ที่วัดได้เชื่อมโยงกับความสามารถและการเจริญเติบโตทางกายของลูกอย่างใกล้ชิด

พัฒนาการที่สำคัญของลูก ตั้งแต่อายุ 1 เดือน จนถึง 1 ขวบ มีดังนี้ค่ะ

พัฒนาการของลูก อายุ 1 เดือน

ลูกชอบมองใบหน้าของคนอุ้มหรือคนเลี้ยงที่ใกล้ชิด และมีการตอบสนองโดยการสบตา หันหาเสียงที่รู้จักคุ้นเคย และเลียนแบบสีหน้าของคุณแม่หรือผู้เลี้ยงได้

พัฒนาการของลูก อายุ 2 เดือน

ในช่วงเดือนที่ 2 ลูกจะเริ่มยิ้มตอบได้แล้วนะคะ และยังสามารถทำเสียงในลำคอ หรือาจทำเสียงคล้าย ๆ เสียงกระซิบกระซาบ ฟังดูคล้าย ๆ คำพูดมีจังหวะ คุณแม่ควรพูดคุยสนทนากับลูกบ่อย ๆ ลูกจะชอบให้อุ้มและโยกตัวไปมา

พัฒนาการของลูก อายุ 3 เดือน

เจ้าตัวเล็กของคุณแม่เริ่มหัวเราะคิกคักด้วยความดีใจแล้วนะคะ และยิ้มอย่างเป็นธรรมชาติเมื่อได้ยินเสียงของคุณแม่หรือเสียงของคนที่คุ้นเคย แถมยังเริ่มกลิ้งตัวได้บ้างเล็กน้อย 

พัฒนาการของลูก อายุ 4 เดือน

ในวัยนี้เจ้าตัวเล็กจะเริ่มซุกซนแล้วนะคะ เห็นวัตถุสิ่งของหรือของเล่นที่เคลื่อนที่ได้จะดึงความสนใจของลูกได้เป็นอย่างดี  ลูกจะพยายามเอื้อมหยิบ  หรือไขว่คว้าในสิ่งที่เห็น ลูกจะรู้สึกดีใจเมื่อได้อยู่กับคุณแม่  ลูกเริ่มนั่งได้แต่ยังต้องประคองอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัยค่ะ

พัฒนาการของลูก อายุ 5 เดือน

ลูกจะเริ่มสนใจตัวเองมากขึ้น  เริ่มอยากรู้จักตนเอง ชอบมองตนเองในกระจกชอบเล่น “จ๊ะเอ๋” อย่างสนุกสนานเพลิดเพลินทีเดียวค่ะ  อาจถือของได้ด้วยมือทั้งสองข้างและเริ่มตรวจสอบ เรียนรู้พื้นผิวในแบบต่าง ๆ ว่ามีความแตกต่างกัน

พัฒนาการของลูก อายุ 6 เดือน

ลูกแสดงอารมณ์ และสีหน้าได้ชัดเจน เช่น  ยิ้ม  หัวเราะเมื่อมีความสุข สนุกสนาน หรืออาจแสดงสีหน้าเมื่อไม่พอใจหรือไม่ได้สิ่งที่ต้องการ  ชอบหยิบจับทุกสิ่งทุกอย่างเข้าปากเพื่อตรวจสอบ ต้องระวังให้มากเพราะอาจเกิดการติดคอได้ ของเล่นชิ้นเล็ก ๆ เช่น  ตัวต่อ บล็อกต่อเล็กๆ ชิ้นส่วนของเล่นลูกอาจหยิบลงคอเป็นอันตรายได้

พัฒนาการของลูก อายุ 7 เดือน

ลูกเริ่มมีความอยากรู้อยากเห็น มีการพยายามพลิกตัวและยันตัวเองให้อยู่ในท่าคลานได้เวลาที่คุณวางลงบนพื้นบางคนเริ่มคลานได้บ้างแล้ว สมองของลูกน้อยเริ่มเชื่อมโยงข้อมูลกับเสียงที่ได้ยิน สามารถจำเสียงคนที่คุ้นเคยได้ และพยายามเลียนเสียงเพื่อพูดคุยกับเรา หรือทำเสียงอ้อแอ้ ทำเสียงซ้ำ ๆ ได้ เช่น มา มา มา

พัฒนาการของลูก อายุ 8 เดือน

ลูกน้อยอาจคาดเดาเหตุการณ์ประจำวันได้  ดังนั้น  เสียงกุญแจที่ประตูและประตูเปิดหมายความว่า พ่อกลับมาบ้านแล้ว ลูกจะแสดงสีหน้าสนุกสนานและอารมณ์ดี และเริ่มเลียนเสียงต่าง ๆ ได้ ลูกจะเริ่มหัดคลานและกลิ้งตัวไปตามพื้น และจะไม่อยู่นิ่งชอบหยิบสิ่งของทุกอย่างรอบตัวมาเล่น

พัฒนาการของลูก อายุ 9 เดือน

ลูกจะเกิดความกังวลเมื่อเห็นแม่เดินออกไปจากห้อง เริ่มทำเสียงเรียก หรือทำเสียงไม่พอใจ หรือลูกจะอารมณ์เสียหากถูกนำของเล่นออกจากมือ  หรือยกมือให้สัญญาณว่า อยากให้อุ้มแล้วนะแม่

พัฒนาการของลูก อายุ 10 เดือน

ลูกจะเข้าใจคำว่า “ไม่” และสั่นศีรษะเหมือนรู้ความหมายของคำว่า “ไม่” อีกด้วย ลูกจะเริ่มเพลิดเพลินกับการอ่านหนังสือกับคุณพ่อคุณแม่ และรู้ด้วยว่าหากพลิกหน้าเขาจะได้รู้สิ่งใหม่ ๆ  ในช่วงวัยนี้ลูกจะเริ่มเกาะยืน แต่ยังต้องช่วยพยุงเป็นหลัก

พัฒนาการของลูก อายุ 11 เดือน

ลูกเริ่ม “สวมบทบาท” เช่น  หวีผมให้ตุ๊กตา กอดตุ๊กตาพี่หมี  ลูกสามารถเกาะยืนได้เองโดยไม่ต้องช่วยเหลือ ลูกอาจเริ่มหัดเดินในวัยนี้ แต่สำหรับบางคนที่ลูกยังดูไม่มีทีท่าว่าจะเริ่มเดินก็ยังไม่ต้องกังวลนะคะ เพราะทักษะเหล่านี้ต้องใช้อาศัยเวลาในการฝึกฝน ลูกสามารถใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กของนิ้วโป้งกับนิ้วต่างๆ หยิบจับสิ่งของชิ้นเล็กๆ ได้แล้ว จากนั้นก็จะเริ่มนำเข้าปากเพื่อเรียนรู้

พัฒนาการของลูก อายุ 1 ขวบ

ลูกเริ่มทำกิจกรรมที่ต้องใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ สามารถแสดงออกได้อย่างชัดเจนมากขึ้นว่าต้องการอะไรด้วยการส่งเสียงและพูดคำสั้นๆ คุณพ่อคุณแม่ต้องค่อยๆ ศึกษาเรียนรู้ทำความเข้าใจกับคำพูดของลูก ลูกน้อยสามารถใช้นิ้วชี้สิ่งของ โบกมือ ปรบมือ และส่งของระหว่างมือสองข้างได้แล้ว เด็กบางคนอาจจะยังเดินไม่ได้ แต่เขาจะสามารถทรงตัวได้เอง บางคนอาจก้าวเดินได้ 2 – 3 ก้าวโดยไม่ต้องอาศัยความช่วยเหลือ

 

เป็นอย่างไรกันบ้างคะได้รู้ถึง พัฒนาการที่สำคัญของลูก ในแต่ละช่วงวัย แต่ถึงอย่างไรก็ตาม พัฒนาการของเด็กแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับความพร้อมของร่างกายของทารกแต่ละคน  ประกอบกับการเลี้ยงดู  การดูแลเอาใจใส่  ดูแลอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงปัจจัยในการช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกให้สมวัยจากผู้เลี้ยงดูซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการที่ดี

เรื่องอื่นๆ ที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular