โรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำอย่างเด็กและคนชรา มักจะเกิดการติดเชื้อได้ง่าย ปัจจุบันนี้เด็กป่วยด้วยโรคปอดอักเสบติดเชื้อ ที่แสดงอาการปอดบวมมากขึ้น อีกทั้งยังสามารถแพร่เชื้อไปให้เด็กคนอื่นได้ แม้ไม่มีอาการ จึงจำเป็นต้องระวังและป้องกันเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในสถานรับเลี้ยงเด็กวัยก่อนเข้าเรียน คุณแม่จะต้องสังเกตุและเฝ้าระวังอาการของลูกอย่างใกล้ชิด โดยจำเป็นต้องศึกษาอาการของโรค และแนวทางป้องกัน เพื่อไม่ให้ลูกน้อยต้องมารับเชื้อปอดบวมเข้าสู่ร่างกายจนป่วยได้ ลองมาเรียนรู้กันดีกว่าเลยว่ามีอาการอย่างไรบ้าง
อาการปอดบวม เป็นยังไง
เชื้อปอดบวม เมื่อเข้าสู่ร่างกายโดยเฉพาะในเด็กเล็ก จะมีความรุนแรงมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากท่อหายใจของลูกมีขนาดเล็กจะทำให้เสมหะอุดตันท่อหายใจ จนลูกหายใจลำบาก อีกทั้งลูกน้อยยังไม่รู้จักวิธีการไอ เพื่อกระตุ้นให้เสมหะออกมาเหมือนเด็กโตหรือผู้ใหญ่ จึงทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้สูง ซึ่งเมื่อลูกน้อยมีอาการปอดบวมสามารถสังเกตได้ดังนี้
- หายใจลำบาก จนทำให้หายใจแรงขึ้น ซึ่งสังเกตได้ว่าลูกมีหน้าอกบุ๋มขณะหายใจ
- มีไข้หรือตัวอุ่นๆรู้สึกไม่สบายตัว ซึมลง
- อาการเหมือนคนเป็นหวัดหรือไข้หวัด
- ไอแห้งๆ และไอถี่ๆ
- หายใจเร็ว มีเสียงหวีด
- ในเด็กบางรายมีอาการปวดท้อง
- เจ็บหน้าอก
- อาเจียน
- มีเสมหะปนเลือด หรือมีอาจมีสีเขียว ในบางรายอาจมีสีสนิม
- ไม่ยอมกินนมและเบื่ออาหาร
อาการปอดบวมที่ควรสังเกตอย่างใกล้ชิด
หากลูกป่วยรุนแรง คุณแม่ควรดูแลอย่างใกล้ชิด และให้สังเกตอาการดังนี้
- มีไข้
- ไอ หายใจเร็ว หอบเหนื่อย
- หายใจลำบาก หายใจแรงจนรูจมูกบาน หรือหายใจแรงมากจนหน้าอกบุ๋ม
- หายใจมีเสียงวี๊ด
สาเหตุที่ทำให้ปอดบวม
โรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ เป็นโรคที่มีการติดเชื้อหรืออักเสบของปอด เกิดได้จาก
- การติดเชื้อโรคชนิดต่างๆ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา
- เกิดจากได้รับสารเคมี หรือยาบางชนิด เคยพบในคนไปกินน้ำมันก๊าดโดยไม่ตั้งใจ ก็จะเกิดอาการปอดบวม ได้
ซึ่งโรคนี้พบได้ทุกเพศทุกวัย ส่วนในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุและผู้มีโรค ประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะทำให้มีโอกาสเกิดโรคได้มากกว่า และมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากภาวะร่างกายที่มีภูมิต้านทานต่ำ
วิธีรักษาอาการปอดบวม
สำหรับคำแนะนำในการรักษาอาการปอดบวมควรทำอย่างไรบ้าง
- ให้ดื่มน้ำมากๆ
- แต่ถ้ารายที่หอบมาก จนรับประทานอาหารไม่ได้ ควรให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ และงดรับประทานอาหารทางปากเพื่อป้องกันการสำลัก
- ให้ออกซิเจน เพื่อให้ร่างกายได้รับปริมาณออกซิเจนที่เพียงพอ
- ให้ยาขยายหลอดลมสำหรับรายที่หลอดลมตีบจนเกิดเสียงหายใจวี๊ด
- กินยาขับเสมหะ หรือยาละลายเสมหะ ในกรณีที่ให้สารน้ำเต็มที่แล้วแต่เสมหะยังเหนียวอยู่
- ไม่ควรให้ยาที่ออกฤทธิ์กดการไอ โดยเฉพาะในเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี เพราะยาที่กดการไอจะทำให้มีเสมหะคั่งค้างอยู่ภายในถุงลมปอดมากขึ้น ควรให้ผู้ป่วยไอเพื่อให้เสมหะออกมามากที่สุด
ถ้าอาการปอดบวมเกิดจากการติดเชื้อไวรัส โดยทั่วไปไม่มียารักษาเฉพาะ ทำได้เพียงรักษาตามอาการ รวมถึงการบำบัดรักษาทางระบบหายใจที่เหมาะสม ด้วยการเคาะปอด การดูดเสมหะ แต่สำหรับกรณีที่ตรวจพบว่าเกิดจากเชื้อไวรัสที่มียารักษาเฉพาะ เช่น เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ อาจได้รับยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่ร่วมด้วย ส่วนอาการปอดบวมที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ ที่เหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรียแต่ละชนิด จนกว่าอาการปอดบวมจะหายขาดได้
ป้องกันลูกรักจากปอดบวม
วิธีป้องกันโรคปอดบวมที่ทำได้ดีที่สุดคือ
- การนำเด็กไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามวัยในตารางที่แพทย์กำหนด และหากมีความจำเป็นก็ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี เพื่อป้องแบคทีเรีย “สเตรปโตคอคคัส นิวโมเนียอี” ที่ทำให้เกิดปอดอักเสบได้ จะป้องกันการติดเชื้อดังกล่าว และช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ นอกจากนี้ควรนำลูกไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จะช่วยลดโอกาสติดเชื้อได้มากขึ้น
- ทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือนควรเลี้ยงด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว เพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง ช่วยลดการเกิดอาการแพ้ต่างๆ ได้ง่าย
- หากอากาศหนาวเย็นให้สวมเสื้อผ้าที่ให้ความอบอุ่น
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสโรค และไม่ควรคลุกคลีใกล้ชิดผู้ป่วย
- ไม่นำเด็กเล็กไปสถานที่แออัด หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนมาก เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ควรนำเด็กเล็กไปในสถานที่ดังกล่าว
- หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ซึ่งเป็นควันพิษที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ
- ฝึกให้เด็กล้างมือบ่อยๆ รวมถึงดูแลบ้านเรือนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
- เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ควรเลี้ยงเองที่บ้าน เพราะจะได้ดูแลใกล้ชิดจะป้องกันโรคได้อีกทางหนึ่ง
- หากเด็กไอและหายใจลำบาก รวมถึงมีอาการหอบ หายใจเร็ว และแรง พร้อมทั้งมีเสียงดัง ต้องรีบพาไปพบแพทย์ทันที
- ไม่ควรให้เด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี และผู้ที่สุขภาพไม่แข็งแรงไปอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วย เพราะมีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อได้ง่าย
การดูแลสุขภาพของลูกน้อยด้วยการให้กินนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก และนำลูกไปรับวัคซีนครบตามกำหนดจะเป็นการช่วยป้องกันการเจ็บป่วยได้ระดับหนึ่ง ส่วนที่เหลือคุณพ่อคุณแม่ต้องหาวิธีป้องกันไม่ให้ลูกน้อย มีโอกาสไปสัมผัสเชื้อโรค โดยการปฏิบัติตามคำแนะนำที่มีในบทความนี้ ก็จะช่วยให้ลูกน้อยห่างไกลจากการเจ็บป่วยด้วยโรคปอดบวมได้
เรื่องอื่นๆ ที่เราแนะนำสำหรับคุณ