fbpx
Homeการเลี้ยงลูกการดูแลสุขภาพเด็กลูกมีไข้ ท้องเสีย คุณแม่เช็คด่วน ใช่อาการอาหารเป็นพิษหรือไม่

ลูกมีไข้ ท้องเสีย คุณแม่เช็คด่วน ใช่อาการอาหารเป็นพิษหรือไม่

การเลี้ยงดูลูกน้อยให้เติบโตแข็งแรงแต่ละช่วงวัย จำเป็นต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่จากคุณพ่อคุณแม่อย่างใกล้ชิด การที่ลูกน้อยจะมีอาการเจ็บป่วยเป็นไข้ จากโรคภัยต่างๆ ในปัจจุนั้นนี้เป็นไปได้ง่ายมาก เนื่องจากสภาพอากาศ และมลพิษต่างๆ ที่มีอยู่รอบตัว โดยเฉพาะเมื่อลูกเป็นไข้และมีอาการท้องเสียร่วมด้วย อาจจะเกิดขึ้นจากการติดเชื้อก็ได้ คุณแม่จำเป็นต้องเช็คดูอย่างละเอียดว่าเกิดจากอาการอาหารเป็นพิษหรือไม่ ซึ่งมีอาการอย่างไรบ้างนั้นมาดูกัน

อาการอาหารเป็นพิษ เป็นอย่างไร

เมื่อลูกมีอาการท้องเสียวันละหลายๆ ครั้งอาจจะเป็นเพราะอาหารเป็นพิษก็ได้ มาดูกันว่าอาการเป็นอย่างไรบ้าง โดยโรคอาหารเป็นพิษ หรืออาการท้องเดิน ท้องเสีย (อุจจาระร่วง) เนื่องมาจากมีการการกินอาหารที่มีสารพิษ ซึ่งเกิดปนเปื้อนเชื้อโรค จนเป็นสาเหตุของอาการอาหารเป็นพิษ ท้องเสีย หรือท้องเดิน  ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะมีอาการไม่รุนแรง และอาการดีขึ้นจนหายไปได้เองภายใน 1-2วัน หากเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กโต สามารถดูแลรักษาอย่างง่ายๆ ที่บ้านด้วยการชงผงเกลือแร่ดื่มจนร่างกายหายอ่อนเพลีย แต่ในรายที่มีอาการชนิดรุนแรงโดยเฉพาะเด็กเล็ก จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล เพื่อรักษาอาการท้องเสีย และรับน้ำเกลือทางหลอดเลือด เพื่อลดการสูญเสียเกลือแร่ และน้ำจนทำให้ช็อคและเสียชีวิตได้

สาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ

สาเหตุของอาหารเป็นพิษเกิดจากมีเชื้อโรคหลายชนิด ที่สามารถปล่อยสารพิษออกมาปนเปื้อนในอาหารต่างๆ เช่นน้ำดื่ม เนื้อสัตว์ เป็ด ไก่ ไข่ นม และอาหารทะเล นอกจากนี้อาจจะมีในผลิตภัณฑ์จากนม เนยแข็ง ข้าว ขนมปัง น้ำสลัด ผัก และผลไม้ ได้อีกด้วย เมื่อคนกินอาหารที่ปนเปื้อนสารพิษดังกล่าว จึงทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษ ที่ส่งผลให้เกิดปวดท้อง อาเจียน และท้องเดินได้ ซึ่งมีสารพิษหลายชนิดที่ทนต่อความร้อน ถึงแม้จะนำไปหุงต้มจนสุกแล้ว แต่สารพิษก็ยังคงอยู่จนก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้

สำหรับระยะฟักตัวของเชื้อโรคอาหารเป็นพิษนี้จะขึ้ออยู่กับชนิดของเชื้อโรค ซึ่งบางชนิดมีระยะฟักตัว 1-8 ชั่วโมง แต่อีกหลายชนิดที่ใช้ระยะเวลาในการฟักตัวนานถึง 2 วันก็มี จึงทำให้หลายคนที่เคยกินอาหารทะเลพอกลับมาบ้านอีกวันสองวันแล้วมีอาการอาหารเป็นพิษเกิดขึ้นก็ได้

วิธีการรักษา

สำหรับวิธีการรักษาอาการอาหารเป็นพิษส่วนใหญ่แพทย์จะให้การรักษา ตามความรุนแรงของโรคดังนี้

1.ถ้ารุนแรงไม่มาก 

โดยที่ลูกน้อยยังกินได้ดี ไม่มีอาการขาดน้ำ ซึ่งสังเกตุจากการยังลุกขึ้นเดินได้ เล่นได้ แพทย์ก็จะให้การรักษาตามอาการที่พบ หากมีไข้ร่วมด้วยก็ให้ยาลดไข้ และให้ดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่

2.ถ้ารุนแรง ถึงขั้นมีอาการขาดน้ำรุนแรง

อาการอาหารเป็นพิษที่รุนแรงพบว่า เด็กจะมีอาการมือเท้าเย็น  ปัสสาวะออกน้อย ร่วมกับอาเจียนรุนแรง หรือถ่ายรุนแรง หลายครั้ง กินไม่ได้ เมื่อคุณแม่พบว่าลูกน้อยมีอาการแบบนี้ จะต้องได้รีบพาลูกไปรับการรักษาในโรงพยาบาลทันที่ เพื่อให้รับน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ จนกว่าอาการจะทุเลา

การดูแลป้องกัน

การดูแลป้องกันอาการอาหารเป็นพิษสามารถทำได้ โดยการดูแลเรื่องความสะอาดเป็นสำคัญโดยเฉพาะอะไรบ้าง

1.ดื่มน้ำสะอาด 

น้ำสะอาดสำหรับเด็ก คือน้ำที่ผ่านการต้มสุกแล้ว

2.ล้างขวดนมและนึ่งฆ่าเชื้อให้สะอาดทุกครั้งก่อนนำมาใช้กับลูก

ขวดนมและอุปกรณ์ของใช้ของลูกควรล้างทำความสะอาดน้ำยาล้างขวดนม และนำไปนึ่งจนสะอาดและเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด และควรใช้คีมหยิบจับแทนการใช้มือสัมผัสโดยตรง เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อที่จะก่อโรคอาหารเป็นพิษได้

3.หมั่นล้างมือให้ลูกให้สะอาดอยู่เสมอ

เด็กเล็กส่วนใหญ่ชอบนำมือเข้าปาก คุณแม่ควรล้างมือให้ลูกบ่อยๆ เพื่อป้องกันเวลาลูกเผลอเข้าปากจะได้ไม่มีเชื้อโรคปนเปื้อน เข้าสู่ร่างกายจนเป็นสาเหตของการเกิดอาหารเป็นพิษได้

4.ให้ลูกกินอาหารที่สุกใหม่ ไม่มีแมลงวันตอม

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ป้องกันอาการอาหารเป็นพิษซึ่งเกิดจากเชื้อชนิดอื่น แต่สามารถป้องกันเชื้อโรคบางชนิดที่มากับแมลงวันได้ไม่ได้เกิดอาการท้องร่วงจากเชื้อโรคอื่นได้ 

สำหรับเด็กเล็ก ที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ

1.ให้ดื่มนมแม่ต่อได้

ในเด็กเล็กที่มีอาการของโรคอาหารเป็นพิษ หากดื่มนมแม่อยู่ ก็ยังคงให้ดื่มนมแม่ต่อไป หากเด็กดื่มนมผสมอยู่ ควรชงแบบเจือจางเท่าตัว และดื่มต่อไปจนกว่าจะดีขึ้น พร้อมกับการดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่ และควรต้มข้าวต้มใส่เกลือเล็กน้อยให้เด็กกิน เมื่อลูกมีอาการดีขึ้น 

2.ถ้าถ่ายท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง 

เด็กดื่มนมหรือน้ำไม่ได้ มีอาการซึม กระสับกระส่าย ดวงตาโบ๋ ในเด็กเล็กอาจจะมีกระหม่อมบุ๋มมากหายใจหอบแรง หรืออาการไม่ดีขึ้นใน 24 ชั่วโมง ต้องไปพยแพทย์ทันที

อาการอาหารเป็นพิษ หากเกิดในเด็กเล็กจะมีความรุนแรงมากเนื่องจากลูกน้อยมีร่างกายอ่อนแอ จนอาจทำให้มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนได้สูง ซึ่งสิ่งที่ควรระวัง คือภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ อาจจะพบในเด็กที่มีอาการถ่าย และอาเจียนมากครั้ง กินน้ำและนมไม่ได้ จนทำให้หากขาดน้ำรุนแรง และหากแก้ไขไม่ทัน ก็อาจเกิดภาวะช็อกได้ หากพบว่าลูกน้อยมีอาการป่วยทางที่ดีควรรีบนำลูกไปโรงพยาบาลดีกว่า อย่ารอให้เป็นมากถึงขั้นรุนแรงเพราะอาจจะทำให้ลูกน้อยมีอาการอ่อนเพลียจากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่จนถึงขั้นเสียชีวิตได้

เรื่องอื่นๆ ที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular