fbpx
Homeการเลี้ยงลูกการดูแลสุขภาพเด็กอาการลมชัก พบบ่อยในเด็ก 5 ปีแรก คุณแม่ไม่ควรมองข้าม

อาการลมชัก พบบ่อยในเด็ก 5 ปีแรก คุณแม่ไม่ควรมองข้าม

การเลี้ยงลูกแต่ละคนให้เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงก็นับว่ามีความลำบากมากพออยู่แล้ว แต่หากครอบครัวไหนมีลูกที่เจ็บป่วย ด้วยอาการลมชักด้วย คงสร้างความหนักใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว อีกทั้งยังจำเป็นต้องทุ่มเทเวลาเอาใจใส่ดูแลลูกมากขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ซึ่งมีลูกที่ป่วยด้วยอาการลมชักและมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการของโรคนี้ ว่ามีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน รวมถึงอาการเป็นอย่างไรบ้าง เราได้รวบรวมมาให้อ่านกันแล้ว

อาการลมชัก เกิดจากอะไร

คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกป่วยเป็นโรคลมชัก อาจจะอยากรู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงของอาการลมชักเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ ซึ่งทางการแพทย์ได้อธิบายว่าเป็นโรคที่เกิดจากสาเหตุต่างๆ เหล่านี้คือ

  1. การที่มีคลื่นไฟฟ้าในสมองทำงานผิดปกติ อาจเกิดจากความผิดปกติ ของขั้นตอนการสร้างเซลล์สมอง ตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์คุณแม่ เมื่อลูกคลอดออกมาแล้ว จึงทำให้เด็กเกิดอาการชักได้
  2. ความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อน ก่อนคลอด ระหว่างคลอดหรือหลังคลอดซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อในครรภ์ หรือการขาดออกซิเจนระหว่างคลอดก็ได้
  3. โรคหลอดเลือดสมอง ผู้ที่มีปัญหาหลอดเลือดสมอง และบางรายเกิดจากภูมิต้านทานของตัวเองที่ลดต่ำลง จนทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้
  4. มีก้อนเนื้อในสมอง การมีก้อนเนื้องอกในสมอง หรือเซลล์ที่เจริญเติบโตเร็วในสมอง ในบางกลุ่มอาการของโรคบางอย่างที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม ย่อมส่งผลต่อการทำงานหรือโครงสร้างสมองได้
  5. มีแผลในสมอง เนื้อสมองมีแผล จนเกิดการติดเชื้อในสมอง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา จากการติดเชื้อก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน
  6. ผู้เป็นโรคตับ โรคไตซึ่งเกิดขึ้นจากความผิดปกติของระดับเกลือแร่
  7. การได้รับยาและสารพิษบางชนิด ก็ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดอาการลมชักได้ทั้งสิ้น

อาการลมชักในเด็ก เป็นอย่างไร

สำหรับอาการลมชักที่เกิดขึ้นในเด็กแต่ละคน จะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าส่วนไหนของสมองที่ได้รับการกระทบ ซึ่งเมื่อเป็นแล้วจะมีการส่งสัญญาณของโรคให้ปรากฎทางด้านร่างกายดังนี้

1.ประสาทสัมผัสผิดปกติ 

ทำให้ลูกอาการชาตามร่างกาย การได้ยินไม่ดี การได้กลิ่นเสียไป นอกจากนี้ยังเกี่ยวเนื่องถึงการมองเห็น ที่เปลี่ยนไปจากเดิมอีกด้วย

2.มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ 

เด็กที่มีอาการลมชัก อาจจะมีการเคลื่อนไหวได้ช้าเนื่องจากร่างกายอ่อนแรง มีกล้ามเนื้อแข็งและเกร็ง ในบางรายอาจจะทำให้ระบบการหายใจผิดปกติ มีหายใจถี่หรือหายใจเสียงดังเกิดขึ้นได้

3.มีพฤติกรรมที่ผิดปกติ 

เมื่อลูกเป็นโรคลมชัก อาจจะทำให้มีอาการแสดงออกถึงสับสน มีความลังเลใจ การตัดสินใจช้ากว่าปกติ การหยิบจับสิ่งของ หรือสวมใส่เสื้อผ้าก็ทำได้อย่างช้าๆ  นอกจากนี้เมื่อกินอาหารจะทำให้การเคี้ยว และการกลืนที่ผิดแปลกไปจากเดิมส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นพร้อมกันได้คือ อาการแสดงออกถึงท่าทีหวาดกลัวด้วยก็ได้

วิธีการดูแลรักษา เมื่อลูกเป็นลมชัก

การรักษาโรคลมชักมีอยู่หลายวิธี ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 หลักใหญ่ดังนี้

1.การรักษาโดยการใช้ยากันชัก

ส่วนใหญ่แพทย์จะเลือกการให้ยากันชักเป็นแนวในการรักษา ซึ่งปัจจุบันมียากันชักผลิตออกมาขายหลากหลายชนิด ซึ่งการเลือกใช้ยากันชักก็จะเลือกตามความเหมาะสมของชนิดการชัก และผลข้างเคียงของยาเป็นสำคัญ

2.การรักษาโดยวิธีอื่นที่นอกเหนือจากการใช้ยากันชัก 

สำหรับวิธีการที่นอกเหนือจากการใช้ยา คือการผ่าตัดสมอง ซึ่งเป็นวิธีที่ยุ่งยากและละเอียดมากขึ้น โดยแพทย์ที่ทำการผ่าตัดจะใช้วิธีการใส่เครื่องกระตุ้นเส้นประสาทคู่ที่ 10 เมื่อผ่าตัดเสร็จแล้วจะต้องติดตามผลการรักษาว่ามีแนวโน้มที่จะช่วยให้อาการดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน ในบางรายอาจจะต้องใช้วิธีการรักษาแบบการให้อาหารแบบคีโตนร่วมด้วยก็ได้ ซึ่งเป็นแนวทางในการรับมือ และการป้องกันอาการลมชักได้นั่นเอง

ส่วนการการรักษาในขณะที่ลูกเกิดอาการลมชัก ทางแพทย์ได้แนะนำวิธีการดูแลรักษา โดยการปฏิบัติตัวต่อเด็กเมื่อมีอาการชัก อย่างไรได้บ้าง โดยเฉพาะอาการชักเกร็งกระตุก และไม่รู้สึกตัว

  1. พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องตั้งสติให้ได้
  2. พยายามจัดสถานที่ให้เด็กอยู่ในที่ปลอดภัยที่สุด
  3. คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่ให้หลวมผ่อนคลาย อย่าให้คนอื่นยืนมุงดู เพื่อให้ได้รับอากาศบริสุทธิ์มากขึ้น
  4. ควรจับให้เด็กนอนตะแคงหน้า หรือตะแคงตัวและหน้า เพื่อช่วยเปิดทางเดินหายใจ และป้องกันการสำลักเศษอาหารและน้ำลาย
  5. ห้ามนำวัตถุใดๆ ใส่เข้าไปในปากเด็ก เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บในช่องปากได้หรือสำลักได้

โรคลมชักป้องกันได้หรือไม่

สำหรับวิธีป้องกันโรคลมชักที่พอจะทำได้ คือ

1.ด้วยการตรวจหาโรคตั้งแต่เนิ่นๆ

หากพบว่ามีอาการที่น่าสงสัยว่าอาจจะเป็นสาเหตุโรคลมชัก ซึ่งจะแสดงออกมาทางด้านสมองเช่นความจำไม่ดี หรือสูญเสียความจำ มีอาการเหม่อลอย วูบง่าย หลงลืมหรือเบลอ มีอาการเคี้ยวปาก มือเกร็ง การพูดติดขัด คุณพ่อคุณแม่ควรนำลูกไปทำการตรวจ หรือสแกนสมองเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคลมชัก  

2.หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจเกิดอันตรายต่อชีวิตได้

ควรให้ลูกหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมโลดโผน หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิต หากเกิดมีอาการลมชักเกิดขึ้นระหว่างทำกิจกรรม ได้แก่ ว่ายน้ำ ปีนหน้าผาหรือขึ้นที่สูง และการปั่นจักรยาน

การเลี้ยงดูลูกให้ปลอดภัยจากโรคลมชัก ควรจะต้องดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่ยังไม่ตั้งครรภ์ ขณะตั้งครรภ์ ขณะคลอด และหลังคลอด ทุกช่วงเวลาล้วนแต่มีความสำคัญต่อสุขภาพของลูกทั้งสิ้น หากใครคิดจะมีลูกก็จำเป็นต้องดูแลสุขภาพให้ดี อย่าให้กระทบกระเทือนต่อการเจริญเติบโตของลูกน้อยในครรภ์ เพราะหากมีจุดบกพร่องเกิดขึ้นกับสมองของลูกแล้ว อาจจะทำให้ลูกต้องแบกรับภาระ การเกิดอาการลมชักไปตลอดชีวิต ย่อมบั่นทอนต่อการใช้ชีวิตของลูกเป็นอย่างมากแน่นอน 

เรื่องอื่นๆ ที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular