คงไม่มีเรื่องใดสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่จะเป็นทุกข์หรือเศร้าใจมากไปกว่าการที่เห็นลูกๆ สุดที่รัก ทะเลาะ หรือขัดแย้งกันเอง แต่ปัญหานี้นับว่าเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกครอบครัว และสามารถคลี่คลายให้เกิดผลดีต่อตัวเด็กและคุณพ่อคุณแม่ได้ หากมีวิธีจัดการกับเรื่องนี้อย่างเหมาะสม
พี่น้องชอบทะเลาะกัน ทำไงดี?
การแก้ปัญหาของคุณพ่อคุณแม่หลายๆ ท่านนั้น โดยส่วนใหญ่มักจะใช้วิธีเปรียบเทียบ หรือเข้าไปตัดสินเด็ก แทนที่จะเข้าไปสอนให้เด็กรู้จักวิธีลดความโกรธ และส่งเสริมให้เรียนรู้วิธีที่จะหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ทำให้เกิดผลเสียต่อเด็กและคุณพ่อคุณแม่เอง โดยเฉพาะวิธีแก้ปัญหาที่เกิดจากการที่เด็กรู้สึกว่า พ่อแม่ไม่ยุติธรรม หรือรักลูกไม่เท่ากัน
[su_quote]การเข้าไปตัดสินเด็ก เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะการเข้าไปบอกว่า ลูกคนนี้ผิด คนนั้นถูก พ่อแม่จะกลายเป็นคนที่ไม่ยุติธรรมสำหรับเด็กทันที และยิ่งจะเพิ่มความร้อนแรงให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกอิจฉา หรือชิงดีชิงเด่นกัน วิธีแก้คือ ให้เขาจัดการกันเองค่ะ ไม่ต้องไปสนใจว่า ใครทำใครก่อน ใครหยิบของเล่นชิ้นนี้มาก่อน ไม่ต้องสนใจค่ะ มันคือธรรมชาติของเด็ก ยิ่งเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ด้วยแล้ว ยิ่งไม่ควรเข้าไปตัดสินเลย ถ้าเราเข้าไปตัดสิน เราจะยิ่งเข้าไปสร้างนิสัยการแก้ตัวให้แก่เด็ก[/su_quote]
ดังนั้น เด็กควรจะได้รับอิสระให้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งกันเอง เช่น “เมื่อสักครู่นี้ แม่ยังเห็นเล่นกันอยู่ดีๆ เลย แล้วมาทะเลาะกันแบบนี้ ถ้าอย่างนั้น เล่นกันต่อนะ แม่เชื่อว่า ลูกเป็นพี่น้องกัน ลูกของแม่จะต้องแก้ปัญหากันเองได้” แต่ถ้าเห็นว่า มีการทำร้ายร่างกายกัน ให้เข้าไปจับแยก และสอนว่า พี่น้องกันไม่ควรทำร้ายกันแบบนี้ กรณีที่ลูกแย่งของเล่นกันลองใช้วิธีให้น้องถามพี่ดูสิว่า พี่จะเล่นอีก 1 หรือ 2 นาที ถ้าบอกว่า อีก 2 นาทีให้ตั้งเวลาเล่นเลย ครบ 2 นาทีแล้วผลัดมาให้น้องเล่นบ้าง พอน้องเล่น ก็ให้พี่ถามน้องเช่นเดียวกันว่า จะเล่นกี่นาที เป็นต้น
นอกจากนี้ อีกหนึ่งวิธีช่วยลดความขัดแย้งระหว่างพี่น้อง โดยเฉพาะปัญหาการแย่งของเล่น คือ ควรให้ลูกแต่ละคนเป็นคนเลือกของเล่นด้วยตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเลือกซื้อมาให้เหมือนๆ กัน เพราะจะยิ่งทำให้เกิดปัญหาแย่งของเล่นเกิดขึ้นได้ แต่การมีของเล่นต่างชิ้นกัน ถ้าเกิดปัญหาแย่งของเล่น สามารถใช้วิธีแลกกันเล่นได้ค่ะ
ส่วนในกรณีที่เห็นจะจะว่าพี่เป็นฝ่ายทำร้ายน้อง สิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำ คือ ไม่ควรดุ หรือลงโทษพี่ แต่ควรพุ่งความสนใจไปยังคนที่ถูกกระทำก่อน เช่น “เจ็บไหมลูก ถ้าเป็นแม่ แม่จะไม่ตีหนูแบบนี้แน่นอน ไหนเจ็บตรงไหน มาให้แม่ดูหน่อยสิจ้ะ” ซึ่งการให้ความสนใจกับฝ่ายที่ถูกกระทำ และพยายามพูดคุยด้วยความเป็นห่วงเป็นใย ทำให้ลูกอีกคนเรียนรู้ว่า ถ้าตีน้องเขาจะไม่ได้รับความสนใจจากพ่อแม่ จากนั้นเมื่อลูกอารมณ์เย็นขึ้น ค่อยสอนต่อไป ว่า “ตีน้องแบบนี้ไม่ได้นะคะ หนูมีสิทธิ์โมโหได้ แต่โมโหแล้ว เราต้องไม่ตีค่ะ ครั้งหน้าถ้าหนูโมโห ขอให้เดินมาหาแม่ เดี๋ยวแม่เล่นกับหนูให้หายโมโหเอง แต่ถ้าโมโหแล้วตีน้องแบบนี้ บ้านเราไม่ทำนะคะ” หรือในกรณีที่น้องตีพี่ก็ใช้วิธีเดียวกันนั่นเองค่ะ
จาก : แม่รักลูก Photo Credit : gceprogrammers.blogspot.com