กระดูก เป็นโครงสร้างหลักในร่างกาย หากกระดูกไม่แข็งแรงแล้วกล้ามเนื้อหรืออวัยวะที่ยึดติดร่างกายด้วยกระดูกก็จะเกิดปัญหาตามมา ทารกในครรภ์จะมีกระดูกที่แข็งแรงได้นั้น คุณแม่ต้องดื่มนมหรือทานอาหารที่มีแคลเซียมในปริมาณที่มากกว่าปกติ เพื่อลูกในครรภ์ของคุณจะได้นำส่วนที่เกินมาใช้ในการเสริมสร้างกระดูกโครงสร้างของร่างกาย เพราะตลอดเวลา 9 เดือนที่เด็กเติบโตในครรภ์มารดา เขาจะนำแคลเซียมไปใช้ในทุกวันเพื่อให้กระดูกแข็งแรง
การพัฒนาโครงสร้างกระดูกของทารกในครรภ์จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ
ช่วงที่ 1
เริ่มพัฒนากระดูกสันหลังก่อน ในช่วงตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 6 กระดูกส่วนต่าง ๆ ของทารก ถูกพัฒนาจากกลุ่มเซลล์ของตัวอ่อนที่อยู่บริเวณชั้นกลางหรือ Mesoderm เซลล์นี้จะเปลี่ยนไปเป็นโครงกระดูก กล้ามเนื้อทั่วไป กล้ามเนื้อหัวใจ อัณฑะหรือรังไข่ ไต ม้าม เม็ดเลือดแดง และเซลล์ผิวหนังชั้นในสุด กระดูกสันหลังของลูกน้อยจะเริ่มพัฒนาก่อนกระดูกส่วนอื่น โดยช่วงแรกจะมีลักษณะเป็นแนวคล้ายร่องหยักตลอดทั้งหลัง ช่วงนี้ลำตัวของลูกจะคดงอเหมือนกุ้ง และในช่วงการตั้งครรภ์สัปดาห์ที่ 10 จะเริ่มพัฒนาโครงหน้า เพราะกระดูกโครงหน้าแต่ละส่วนมีการพัฒนาเชื่อมต่อกัน จนเกิดเป็นโครงสร้างเพื่อให้กล้ามเนื้อยึดเกาะ รวมทั้งโครงสร้างกระดูกของอวัยวะอย่าง แขน ขา ก็เริ่มพัฒนามากขึ้น
ช่วงที่ 2
แคลเซียมมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะช่วยให้กระดูกของทารกแข็งแรงขึ้น ในช่วงนี้เองพัฒนาการของเด็กจะเริ่มมีเล็บ แคลเซียมที่คุณแม่ทานเข้าไปจะช่วยให้กระดูกของทารกกลายเป็นกระดูกแข็งสมบูรณ์ และเริ่มสร้างฟันขึ้น
ช่วงที่ 3
กระดูกของเด็กได้พัฒนาอย่างสมบูรณ์แล้ว ในช่วงนี้ร่างกายของทารกต้องการแคลเซียมเพิ่มเสริมความแข็งแรงให้กับกระดูกอย่างมาก คุณแม่ต้องเลือกทานอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนากระดูกของทารกในครรภ์พอสมควร
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ต้องการแคลเซียมมากกว่าปกติถึง 2 เท่า (โดยประมาณ) เพราะทารกจะนำแคลเซียมไปเสริมให้กระดูกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายแข็งแรงขึ้น ดังนั้น คุณแม่ตั้งครรภ์ควรหันมากินอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูง อย่างนม โยเกิร์ต เต้าหู้ ถั่วเหลือง ธัญพืชต่าง ๆ ไข่แดง ปลาเล็กปลาน้อย ผักโขม บรอกโคลี หัวปลี ฟักทอง และตำลึงค่ะ ทางที่ดี คุณแม่ควรกินอาหารเหล่านี้ไปจนถึงหลังคลอดและช่วงให้นม เพื่อไม่ให้ร่างกายขาดแคลเซียม และยังเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อลูกน้อยด้วย
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ