ทารกช่วงขวบปีแรกยังสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ ดังนั้นอาการไม่สบายหรือเจ็บป่วยบางอาการเขาไม่สามารถบอกได้ชัดเจน ทำได้เพียงส่งเสียงร้องที่แปลกไป เพื่อให้คนใกล้ตัวขณะนั้นเอะใจได้ แม้ร่างกายภายนอกที่ไม่บ่งบอกอาการอย่างชัดเจน คงสร้างความกังวลให้คุณพ่อคุณแม่ได้ว่า ทำไมลูกน้อยถึงร้องแปลกไป อาการตัวร้อนหรือมีไข้ก็ไม่มีให้เห็น วิธีเดียวที่จะรู้ได้คือต้องรีบพาไปโรงพยาบาลเพื่อวินิจฉัยต่อไป คุณหมออาจตรวจพบว่าลูกน้อยมีอาการ “ลำไส้กลืนกัน” อยู่ก็เป็นไปได้ค่ะ
โรคลำไส้กลืนกัน เกิดจากอะไร?
จากการสันนิษฐานของแพทย์ส่วนใหญ่บอกว่า อาการลำไส้กลืนกัน เกิดจากต่อมน้ำเหลืองในลำไส้ที่โตขึ้น เพราะไข้หวัดหรือลำไส้อักเสบเป็นตัวกระตุ้น ทำให้เกิดภาวะส่วนของลำไส้เล็กที่อยู่ต้นกว่าค่อย ๆ เคลื่อนที่เข้าไปอยู่ในลำไส้ส่วนที่อยู่ปลายกว่า ในลักษณะที่เรียกว่ากลืนกันนั่นเอง ทำให้เกิดภาวะลำไส้อุดตันภายใน ส่วนใหญ่มักเกิดอาการกับกลุ่มเด็กที่อ้วนท้วน ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงดี สามารถเกิดโรคได้กับเด็กทั้งเพศชายและหญิง ช่วงอายุที่พบคือวัย 4-8 เดือน
การสังเกตอาการและการตรวจพบอาการลำไส้กลืนกัน
สิ่งที่บ่งบอกว่าลูกของคุณอาจเป็นโรคลำไส้กลืนกัน คือ เมื่อลำไส้เกิดการบีบตัวลูกของคุณก็จะร้องกรี๊ดขึ้นมาเนื่องจากอาการปวดท้อง ลักษณะของลำตัวซีดลง มือและเท้าเกร็ง มีเหงื่อออกตามร่างกาย และอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ในบ้างครั้งที่ลูกอาเจียนออกมานั้นอาจจะมีสีเขียวของน้ำดีปนมาด้วย เมื่ออาการลำไส้กลืนกันมากขึ้น ลูกจะมีไข้ต่ำและซึมลง ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสีคล้ำปนออกมากับมูกหรือเลือดสดก็ได้ การตรวจพบอาการลำไส้กลืนกันทำได้ 2 วิธีคือ การทำอัลตราซาวด์ด้วยสารทึบรังสี Barium Enema และการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง CT Multislices
การรักษาโรคลำไส้กลืนกัน
วิธีการรักษา “โรคลำไส้กลืนกัน” มี 2 วิธี คือ การดันลำไส้โดยใช้แรงดันผ่านทางทวารหนัก เพื่อให้ลำไส้ส่วนต้นที่ถูกกลืนเคลื่อนตัวออกจากลำไส้ส่วนปลาย ถ้าใช้วิธีส่งแรงดันไม่สำเร็จแล้ว การรักษาในขั้นต่อไปคือการผ่าตัด เพื่อศัลยแพทย์จะใช้มือบีบดันให้ลำไส้ส่วนที่กลืนกันคลายตัวออกจากกัน
หากคุณแม่ปล่อยให้อาการหนักอย่างไม่รู้ตัวแล้ว โอกาสที่ลำไส้จะเน่าหรือเกิดการแตกก็สูงด้วย ในกรณีนี้การรักษาจำเป็นต้องตัดลำไส้ส่วนที่เน่าออก และทำการต่อลำไส้ส่วนที่ดีเข้าหากัน
อาการป่วยในเด็กควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการให้ถูกต้องเป็นวิธีที่ดีที่สุด การซื้อยามารับประทานเองอาจเป็นบ่อเกิดของอาการที่หนักขึ้นได้ เพราะรักษาไม่ถูกต้องตามอาการ หากไม่ใช่การป่วยอย่างเช่นมีไข้หรือตัวร้อนประกอบกับลูกน้อยแสดงพฤติกรรมที่แปลกไปแล้ว การพาลูกไปพบแพทย์เป็นวิธีที่ดีกว่า คิดเสียว่ายอมเสียเวลาสักนิดเพื่อรักษาชีวิตลูกน้อยนะคะ..คุณแม่
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ