คนท้องเพิ่มน้ำหนักอย่างไร ให้ดีต่อสุขภาพ ไม่มากไปไม่น้อยไป สารอาหารส่งตรงถึงลูก น้ำหนักตัวของคนท้อง ควรเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร? สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่คนท้องหลาย ๆ คนอยากรู้เกี่ยวกับเรื่องน้ำหนักของคุณแม่ระหว่างตั้งครรภ์ หาคำตอบได้ที่นี่ค่ะ.
9 คำถามเรื่อง น้ำหนักตัวของคนท้อง ที่มักสงสัยกัน? หมอสูติมีคำตอบค่ะ
1. ในระหว่างตั้งครรภ์ คนท้องควรมีน้ำหนักเท่าไหร่ ถือว่าดี ต่อสุขภาพตลอดการตั้งครรภ์?
ในระหว่างตั้งครรภ์ คนท้องควรมีน้ำหนักเพิ่มประมาณ 10-15 กิโลกรัม ถึงจะพอดีกับการตั้งครรภ์จนถึงคลอด ผู้หญิงที่มีรูปร่างสูงใหญ่มักจะมีน้ำหนักตัวขึ้นมากกว่าคุณแม่ตัวเล็ก และหลังคลอดคุณแม่ตัวเล็กจะน้ำหนักลดลงเร็วกว่าคุณแม่ที่มีรูปร่างสูงใหญ่
น้ำหนักตัวมากเกินไปในระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ได้แสดงว่าลูกจะแข็งแรง และ น้ำหนักตัวดี เพราะน้ำหนักที่ขึ้นส่วนมากไปขึ้นที่แม่เป็นหลัก ถ้าคุณแม่ต้องการคุมน้ำหนักให้ได้ดีจริง ๆ จะอยู่ที่ประมาณ 9 กิโลกรัม ไม่เกิน 11 กิโลกรัม ตลอดการตั้งครรภ์ หลังคลอดน้ำหนักจะลดลงเร็ว และ ไม่เสี่ยงกับการอ้วนตลอดไปหลังตั้งครรภ์
ส่วนคุณแม่ที่มีน้ำหนักเกิน 15 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 18 กิโลกรัม ยังถือว่าได้รับสารอาหารที่สมบูรณ์ น้ำหนักหลังคลอดลดลงได้แต่อาจจะช้า แต่ตลอดการตั้งครรภ์น้ำหนักของคุณแม่ไม่ควรเกิน 18 กิโลกรัมค่ะ เพราะถือว่าเสี่ยงกับอาการอ้วน และลูกในครรภ์ก็เสี่ยงกับภาวะอ้วนไปด้วยค่ะ
2. น้ำหนักควรขึ้นในช่วงการตั้งครรภ์อย่างไรถึงจะเหมาะสม
ในช่วงไตรมาสแรก หรือ 3 เดือนแรก น้ำหนักไม่ควรเกิน 2 กิโลกรัม ถ้าเกินให้หาทางควบคุมน้ำหนัก แต่ส่วนมากใน 3 เดือนแรกน้ำหนักคุณแม่จะยังไม่ขึ้นมาก หรืออาจจะลดลงเนื่องจากอาการแพ้ท้องค่ะ
ในช่วงไตรมาสที่ 2 น้ำหนักควรเพิ่มประมาณ สัปดาห์ละ 0.5 กิโลกรัม หรือ ครึ่งกิโลกรัม หรือไม่เกิน 6 กิโลกรัม หรือน้อยกว่านี้ได้ สำหรับคุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องอยู่
ในช่วงไตรมาสที่ 3 หรือช่วง 3 เดือนสุดท้ายระหว่างตั้งครรภ์คุณแม่จะน้ำหนักขึ้น อีกประมาณ 3-6 กิโลกรัม หรือมากกว่านั้น เพราะต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 และหลังตั้งครรภ์ประมาณ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป คนท้องส่วนมากจะหายจากอาการแพ้ท้อง และรู้สึกว่าร่างกายกระปี้กระเปล่า อยากจะกินแต่อาหาร กินอะไรก็อร่อย ทำให้ช่วงนี้คุณแม่จะมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกว่าจะคลอดนั่นเองค่ะ
3. ในช่วง 3 เดือนแรก คุณแม่ที่มีอาการแพ้ท้องหนัก ๆ กินอะไรไม่ค่อยได้ น้ำหนักจะลดลง เป็นอันตรายต่อลูกหรือไม่?
ในช่วงการตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก ทารกไม่ได้ต้องการสารอาหารอะไรมากนัก สามารถดึงสารอาหารจากร่างกายคุณแม่ได้ ทารกต้องการสารอาหารจริง ๆ ในช่วงไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไปค่ะ
ในช่วงไตรมาสที่ 2 ทารกต้องการสารอาหารดี ๆ และ มีประโยชน์จริง ๆ เพราะในช่วงนี้ทารกกำลังสร้างกล้ามเนื้อและพัฒนาระบบต่าง ๆ อาหารจึงจำเป็นมากในช่วงไตรมาสนี้ และคุณแม่ก็หายจากอาการแพ้ท้องแล้วด้วยทำให้กินอาหารได้มากขึ้นค่ะ ดังนั้นใน 3 เดือนแรกน้ำหนักของคุณแม่ไม่ขึ้น หรือ ลดลงก็ไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ค่ะ
4. มีคนเคยบอกว่า ถ้าน้ำหนักขึ้นน้อย และ น้ำหนักลูกไม่มากเกินไป จะทำให้คลอดง่ายจริง หรือไม่?
เรื่องนี้ถือว่าจริง เพราะคุณแม่ที่มีน้ำหนักตัวพอดี เด็กไม่ตัวใหญ่เกินไป น้ำหนักเด็กจะอยู่ที่ประมาณ 2500-3500กรัม ซึ่งจะคลอดง่ายกว่าคุณแม่ที่มีร่างกายอ้วน แต่ถ้าน้ำหนักขึ้นน้อยเกินไป ลูกคลอดออกมามีน้ำหนักตัวน้อยก็เสี่ยง เกิดภาวะแทรกซ้อนหลังคลอดได้ง่าย
แต่ถ้าน้ำหนักตัวลูกมากเกินไป อาจทำให้ไหล่ ตัว หัว ติดช่องคลอด ไม่สามารถคลอดเองได้ และหลังคลอดเด็กที่มีน้ำหนักตัวเยอะเกินไปจะมีพัฒนาการล่าช้ากว่าเด็กปกติทั่วไปด้วยค่ะ
1 2