พัฒนาการเด็กวัย 6 เดือน ตอนนี้ลูกจะคล่องแคล่วและหยิบจับอะไรได้ไวกว่าเดิม คุณแม่ต้องคอยระวังเรื่องสิ่งของใกล้ตัวลูกเป็นพิเศษ เพราะลูกอาจคว้าเอาสิ่งของที่เป็นอันตรายกับตัวเองได้ คุณแม่จะรู้สึกว่าอุ้มลูกแล้วคล่องมือขึ้นเนื่องจากกล้ามเนื้อและกระดูกของลูกแข็งแรงมากขึ้น และในวัย 6 เดือนนี้ลูกจะทรงตัวได้ดีมากว่าที่ผ่านมา
พัฒนาการเด็กวัย 6 เดือน โดยทั่วไปมีดังนี้ค่ะ
- นั่งได้ เด็กบางคนอาจเริ่มนั่งได้ตั้งแต่เดือนที่ 5 แต่ในเดือนนี้ลูกจะนั่งได้นานขึ้น เด็กบางคนอาจต้องมีสิ่งของหรือเบาะไว้พิง ในขณะที่เด็กบางคนไม่ต้องพิงอะไรก็สามารถนั่งเองได้นานเลยค่ะ
- พลิกคว่ำพลิกหงายได้อย่างคล่องแคล่ว ถ้าเด็กคนไหนที่ยังไม่พลิกคว่ำหรือพลิกหงายเลย แนะนำให้พาลูกไปพบคุณหมอเพื่อตรวจสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อค่ะ
- จับขวดนมได้เอง หรือ เปลี่ยนจากถือของมือหนึ่งไปอีกมือหนึ่งได้
- คืบไปได้ทั้งข้างหน้าและข้างหลัง
- เอื้อมมือหยิบสิ่งของที่ต้องการ และใช้มือจับหรือแย่งสิ่งของที่อยู่ใกล้มือ เช่น ถาดป้อนข้าว ป้อนน้ำ
- ดื่มนมจากถ้วยได้แล้ว
- นอนต่อวันประมาณวันละ 12 ชั่วโมง นอนตอนกลางคืนนานกว่าเดิม เด็กบางคนอาจตื่นมากินนมเพียงครั้งเดียว
- จ้องและชอบส่งเสียงตามในสิ่งที่สนใจ บางทีอาจทำปากตาม สำหรับเด็กผู้หญิงจะทำได้เร็วกว่าเด็กผู้ชายค่ะ
- ชอบส่งเสียงพูดคุยเพื่อให้คนเล่นด้วย แต่เสียงที่ออกมายังไม่สามารถเป็นคำพูดได้ค่ะ
- ส่งเสียงเรียกพ่อแม่มาอุ้มหรือต้องการความช่วยเหลือ
- ชอบเอื้อมมือจับเด็กคนอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้
- รู้จักชื่อตัวเองแล้วเมื่อมีคนเรียกจะหันมองได้ทันที
- หยิบจับสิ่งของได้อย่างแม่นยำ สามารถสนใจสิ่งของต่างกันในเวลาเดียวกัน เช่น มือซ้ายถือตุ๊กตา มือขวาก็เอื้อมหยิบของเล่นอีกชิ้นได้
- ชอบจับของเล่นโยนทิ้ง คุณพ่อคุณพ่อควรเก็บเอามาส่งให้ แล้วลูกก็จะโยนทิ้งอีก ถือเป็นพัฒนาการอยางหนึ่งค่ะ
- ทำเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ได้ ทำเสียงออกจากปากตามเสียงเพลงที่ฟังได้ค่ะ
เด็กที่อยู่ในวัย 6 เดือน กำลังเป็นวัยที่สนใจสิ่งรอบข้างมาก และเป็นวัยที่ชอบให้มีคนมาเล่นด้วย ถือว่าเป็นพัฒนาการที่สำคัญอีกอย่างของลูกค่ะ คุณแม่ที่มีลูกอยู่ในช่วงอายุ 6 เดือนนี้สามารถให้ลูกเริ่มรับประทานอาหารเสริมได้แล้วค่ะ เพราะลูกต้องการสารอาหารที่มากขึ้นกว่าเดิมเพื่อใช้ในการพัฒนาด้านต่างๆของร่างกาย
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ