อาการแพ้ท้อง ถือเป็นอาการปกติของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ทุกคน เพราะร่างกายกำลังเปลี่ยนแปลงและปรับสภาพเพื่อรองรับการเกิดใหม่ของอีกหนึ่งชีวิต ฮอร์โมนต่าง ๆ จึงเปลี่ยนไปทำให้เกิดมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องไส้ปั่นป่วน เบื่อหรือแพ้อาหารบางจำพวก และอัตราความแปรปรวนของอารมณ์ก็พุ่งทะยานสูงปริ๊ด จนคุณพ่อหลายคนนึกขยาดเลยทีเดียวค่ะ
อาการแพ้ท้อง บ่งบอกสุขภาพทารกในครรภ์ อย่างไร?
อาการแพ้ท้องของคุณแม่ตั้งครรภ์ แต่ละท่านหนักเบาแตกต่างกันออกไป หลายคนบอกว่าอาการแพ้ท้องนั้นไม่ดีทำให้ลำบากในการใช้ชีวิตและทำงาน แต่จริง ๆ แล้ว อาการแพ้ท้องนั้นบ่งบอกถึงสุขภาพภายในเบื้องต้นของลูกน้อยก่อนทำอัลตร้าซาวด์ เนื่องจากอาการแพ้ท้องเกิดจากการเพิ่มฮอร์โมนเพื่อสร้างเซลล์รก เมื่อฮอร์โมนเพิ่มขึ้นมากอาการแพ้ท้องก็ยิ่งมากตามเท่านั้น นั่นยิ่งหมายถึงสายสะดือหรือสายรกนั้นแข็งแรงพอที่จะลำเลียงสารอาหารไปยังตัวอ่อนหรือทารกในครรภ์อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีนักวิจัยได้ทำการทดสอบพฤติกรรมและวัดระดับสติปัญญาเด็กอายุ 3 ขวบ และ 7 ขวบ จากกลุ่มที่คุณแม่แพ้ท้องและคุณแม่ที่ไม่แพ้ท้อง ระบุว่าเด็กที่แม่แพ้ท้องมากมีแนวโน้มทำคะแนนทดสอบสติปัญญาได้สูงกว่าเด็กที่แม่ไม่แพ้ท้อง ทั้งยังทำคะแนนการใช้ภาษาและคณิตศาสตร์อย่างง่ายได้ดีกว่า แม้นำปัจจัยอื่นๆ เช่น ระดับสติปัญญา ประวัติการสูบบุหรี่และดื่มเหล้า รวมทั้งภูมิหลังทางสังคมของแม่มาพิจารณาประกอบด้วยก็ตาม
ระยะเวลาของการแพ้ท้อง
อาการแพ้ท้อง จะอยู่โดยประมาณ 2-3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ ลักษณะอาการจะเริ่มหนักขึ้น ๆ และก็จะเริ่มลดลงตามลำดับระยะเวลาครรภ์ แต่หากคุณแม่แพ้ท้องหนักมากแล้วจู่ๆวันต่อมาหายขาดเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น อย่าได้วางใจนะคะ ให้ไปพบคุณหมอทันทีเพราะมีความเสี่ยงว่าทารกในครรภ์นั้นอาจจะเสียชีวิตแล้ว เพราะโดยปกติอาการแพ้ท้องมักจะค่อย ๆ บรรเทาลงจนหายขาดไม่ใช่หายขาดปุ๊บปั๊บทันใด แต่อาการแพ้ท้องจนถึงขั้นไม่สามารถทานอะไรได้เลยนั้นควรไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน เพื่อป้องกันร่างกายเกิดสภาวะขาดน้ำร้ายแรง ส่งผลต่อระบบภายในร่างกายที่แปรปรวน ผิดปกติถึงขั้นไตวายเฉียบพลันได้
ตั้งครรภ์ไม่มีอาการแพ้ท้องเลย อันตรายไหม
และเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อยู่เกิดสงสัยว่า อ้าวแล้วถ้าเรามีอาการแพ้ท้องไม่มากหรือไม่แพ้เลยล่ะ ลูกเราจะอ่อนแอและมีความเสี่ยงหรือไม่? ซึ่งก็ต้องบอกไว้เลยว่าหากคุณแม่ไม่ได้มีเลือดออกระหว่างการตั้งครรภ์ก็ไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แถมคุณแม่ยังโชคดีที่แพ้ท้องไม่มากหรือแทบไม่มีอาการเลย จะกินจะเดินหรือทำอะไรจึงค่อนข้างสบายและไม่ต้องทรมานกับอาการแพ้ท้อง แต่ถ้าคุณแม่มีเลือดออกระหว่างการตั้งครรภ์และไม่มีอาการแพ้ท้องเมื่อไหร่ คุณแม่จะตกอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงของภาวะครรภ์เป็นพิษและภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพร่างกายและตรวจสุขภาพครรภ์ทันที
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ