ตั้งแต่ฝากครรภ์กับสูติแพทย์แล้ว คุณหมอมักจะนัดทุกเดือนเพื่อตรวจสุขภาพคุณแม่และครรภ์ เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 – 3 คุณหมอก็ตรวจละเอียดมากขึ้น คุณแม่และครอบครัวอาจเกิดความสงสัยว่าการตรวจเหล่านั้นสำคัญมากน้อยอย่างไร และมีผลเสียหรือไม่หากไม่ทำการตรวจ
การตรวจครรภ์ในไตรมาสที่ 1 (12 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์) เริ่มจากการตรวจดูสภาพมดลูกและการเกาะตัวของรก รวมถึงความเสี่ยงที่จะเกิดการแท้ง จากคุณแม่ที่มีโรคประจำตัวอย่างเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูง ฯลฯ เมื่อเข้าสู่ไตรมาสที่ 2 (ช่วง 16 ถึง 18 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์) สูติแพทย์จะตรวจรายละเอียดต่อไปนี้
4 เรื่องที่คุณหมอมักตรวจช่วงตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2
1. การตรวจเลือด
เพื่อวิเคราะห์ค่าอัลฟ่า-เฟโต้-โปรตีน (alpha-feto-protein) เป็นการเชื่อมโยงของโปรตีนที่จะชี้ให้ทราบถึงความผิดปกติของกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรมในเด็กได้ รวมไปถึงความผิดปกติของระบบประสาท
2. การตัดชิ้นเนื้อรกและการตรวจน้ำคร่ำ
เป็นวิธีหนึ่งที่สูตินรีแพทย์ใช้บ่อย สามารถทำได้เมื่อมีอายุครรภ์ตั้งแต่ 12 สัปดาห์เป็นต้นไป เนื่องจากในน้ำคร่ำของแม่จะประกอบไปด้วยเซลล์ของทารก ดังนั้น เมื่อมีการนำน้ำคร่ำของแม่ที่มีการกระจายทางโครโมโซมอย่างสม่ำเสมอมาตรวจ ก็จะสามารถหาค่าความแปรปรวนที่จะชี้ให้เห็นถึงความผิดปกติของทารกได้ และยังสามารถตรวจไปถึงรายละเอียดเพิ่มเติม อาทิ แผ่นสันหลังของทารก กระดูกของกะโหลกทารก กระดูกสันหลังของทารก เป็นต้น ว่ามีการฟอร์มตัวที่ผิดปกติหรือไม่?
3. ตรวจวินิจฉัยเยื่อหุ้มทารก
วิธีนี้มักจะทำในแม่ตั้งครรภ์ ที่มีอายุครรภ์ในช่วง 8 – 10 สัปดาห์ โดยเป็นการตรวจหาความผิดปกติในระดับโครโมโซม ซึ่งจะนำเซลล์จากรกมาตรวจ วิธีนี้จะให้ผลการวินิจฉัยในระดับโครโมโซมที่ค่อนข้างชัดเจน ทำให้ทราบได้ว่าทารกมีอาการดาวน์ซินโดรม หรือ ธาลัสซีเมีย และความผิดปกติทางโครโมโซมอื่น ๆ หรือไม่ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจหาความผิดปกติของเมตาโบลิซึ่มของร่ายกายได้อีกด้วย จึงเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน และส่วนใหญ่แพทย์ก็จะแนะนำให้แม่ตั้งครรภ์ที่อยู่ในเกณฑ์เสี่ยงได้รับการตรวจ
4. การตรวจอัลตร้าซาวด์
ส่วนใหญ่เมื่อแม่มาฝากครรภ์ แพทย์จะแนะนำให้ได้อัลตราซาวด์ ซึ่งปกติแพทย์จะแนะนำให้ทำอัลตร้าซาวนด์ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง ตลอดช่วงตั้งครรภ์ แต่หากจำเป็นก็สามารถทำได้มากกว่านั้น ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
การตรวจสุขภาพก่อนการตั้งครรภ์ การตรวจระหว่างตั้งครรภ์ และสุขภาพของคุณแม่กับคุณลูกหลังการคลอด มีความจำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการตรวจเพื่อหาความเปลี่ยนแปลงหรืออันตรายของสุขภาพของทั้งคุณแม่และลูก ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อมอย่างหนึ่งว่าหากเกิดความผิดปกติเรื่องใดกับคุณทั้งคู่ คุณหมอจะได้หาวิธีรักษาหรือแนวทางการแก้ไขไว้ล่วงหน้าได้ค่ะ
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ