เมื่อถึงวัยและเวลาที่ลูกจะต้องไปโรงเรียน บางบ้านอาจเกิดปัญหา ลูกน้อยไม่ยอมไปโรงเรียน เด็กบางคนร้องไห้ตั้งแต่ที่บ้านจนถึงโรงเรียน เด็กบางคนถึงกับลงไปชักดิ้นชักงอหน้าโรงเรียน กว่าจะกล่อมกว่าจะโอ๋กันได้ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง เด็กบางคนเมื่อได้ไปเรียนแล้วคุ้นเคยกับเพื่อนที่โรงเรียนก็จะเลิกร้องไห้ไม่ยอมไปโรงเรียนอีก แต่เด็กบางคนทำยังไงก็ยังไม่อยากไปโรงเรียนอยู่ ปัญหานี้คุณพ่อคุณแม่สามารถแก้ไขได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้ค่ะ
6 วิธีแก้ปัญหา ลูกไม่ยอมไปโรงเรียน
1.ช่วงสัปดาห์แรกควรไปรับ-ไปส่งลูกด้วยตัวเอง
หรือไปรับ-ไปส่งตลอดได้ก็จะดีลูกจะเกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ทิ้งเค้าไปไหนค่ะ
2.อย่าขู่ หรือ บังคับลูก
เพราะเด็ก ๆ จะไม่เข้าใจว่าทำไมต้องไปโรงเรียน เด็กบางคนจะคิดว่าพ่อแม่เอามาทิ้ง ดังนั้นไม่ควรบังคับลูกค่ะ
3.พูดคุยทำความเข้าใจให้ตรงกัน
ถ้าลูกเคยไปโรงเรียนแล้ว ร้องไม่อยากไปอีกให้สอบถามว่าปัญหาเกิดจากอะไร เข้ากับเพื่อนหรือคุณครูได้หรือไม่ จะได้แก้ไขปัญหาได้ถูกทางค่ะ
4.ชวนคุย
ตอนแต่งตัวให้ลูกก่อนไปโรงเรียนหรือตอนนั่งทานข้าวด้วยกัน ควรชวนลูกคุยให้เขาได้ผ่อนคลาย แล้วสอบถามเรื่องต่าง ๆ ว่าเมื่อวานทำกิจกรรมอะไรบ้างที่โรงเรียน กินข้าวกลางวันกับอะไร ลูกจะเพลินและเล่าเรื่องต่าง ๆ ที่โรงเรียนให้ฟัง คุณพ่อคุณแม่จะได้รู้ว่าลูกทำอะไรบ้างในแต่ละวันค่ะ
5.คุณพ่อคุณแม่ควรจะชื่นชมและให้กำลังใจลูก
เมื่อลูกกลับมาจากโรงเรียนและสามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง และพร้อมชี้จุดดีที่ลูกควรไปโรงเรียน อย่างเช่น ลูกเก็บขยะทิ้งลงถังเอง เก็บแก้วน้ำเอง สิ่งเหล่านี้ถ้าลูกทำอะไรได้เหมือนเพื่อนที่เรียนด้วยกัน ลูกจะอยากไปโรงเรียนเองค่ะ
6.สอนให้ลูกหัดช่วยเหลือตัวเองตั้งแต่เด็ก
เด็กบางคนช่วยเหลือตัวเองได้น้อย อาจเป็นเพราะอายุอ่อนเดือนกว่าเพื่อนร่วมชั้น หรือ ตอนอยู่บ้านอาจจะไม่ค่อยได้ทำอะไรด้วยตัวเอง เมื่อไปอยู่ร่วมชั้นกันแล้ว ก็จะทำได้ไม่เหมือนเพื่อน ลูกจะรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่น จึงทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียน ดังนั้นเมื่อลูกอยู่ที่บ้าน อะไรที่ลูกสามารถทำได้ ก็ควรให้ลูกทำเองลูกจะได้ชินแล้วรู้จักช่วยเหลือตัวเองค่ะ
อาการเด็กไม่อยากไปโรงเรียน เป็นเรื่องปกติของเด็กเกือบทุกคน บางคนแสดงออกด้วยการร้องไห้ บางคนเก็บสะสมความเครียดเรื่องไม่อยากไปโรงเรียนจนทำให้ตัวเองเจ็บป่วย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว ปวดแขนปวดขา ซึ่งเป็นกลไกการต่อต้านทางร่างกายที่ส่งผลมายังเด็ก คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งไปคิดว่าลูกโกหกหรือแกล้งพูดนะคะ ควรสังเกตลูกดี ๆ และหาทางแก้ไขที่เหมาะสมจะดีกว่าค่ะ
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ