เชื่อหรือไม่ว่าเด็กทารกแรกเกิดนั้นสามารถรับรู้สิ่งรอบตัวได้ตั้งแต่วินาทีแรกที่คลอดออกมาสู่โลกภายนอก ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของลูก สามารถใช้งานได้ทันทีตั้งแต่แรกคลอด นับเป็นเรื่องมหัศจรรย์มากเลยใช่ไหมคะ? เรามาดูความสามารถและพัฒนาการของทารกแรกเกิดกันค่ะ
ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ที่ทารกแรกเกิดสามารถรับรู้ได้
1. ด้านสายตา
ทารกสามารถมองเห็นได้แต่ยังไม่ชัดค่ะ เพราะระบบการทำงานของตาทั้งสองข้างยังทำงานไม่สัมพันธ์กัน ระยะการมองที่ชัดเจนที่สุดคือ 8-10 นิ้ว คุณแม่ต้องระวังไม่ควรให้ทารกมองแสงที่จ้าตาเกินไป
2. การได้ยิน
ระบบประสาทในส่วนของการได้ยินของทารกนั้นเริ่มทำงานตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของคุณแม่ช่วงไตรมาสสุดท้ายแล้ว คุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะเริ่มพูดคุยกับลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทารกแรกเกิดสามารถได้ยินเสียงแล้วเพียงแต่ว่าอาจจะยังแยกแยะเป็นคำไม่ได้ แต่เมื่อผ่านไปสัก 2-3 วัน ทารกก็จะสามารถจำเสียงได้อย่างแม่นยำ เริ่มค่อย ๆ แยกแยะได้ว่าเสียงไหนเป็นเสียงของพ่อและแม่และเสียงไหนเป็นเสียงคนอื่น เสียงที่ทารกชอบในช่วงนี้ก็คือเสียงที่ดังเป็นจังหวะเดียวกับหัวใจของคุณแม่นั่นเอง เพราะเป็นเสียงที่เค้าคุ้นเคยตั้งแต่อยู่ในท้องค่ะ
3. กลิ่น
ลูกจะรับรู้กลิ่นของแม่ได้และแยกได้ว่าคนอื่นไม่ใช่แม่ ความสามารถนี้เกิดขึ้นได้ภายใน 2-3 วัน หลังคลอด และจะสามารถแยกกลิ่นน้ำนมแม่ออกจากนมแบบอื่นได้ด้วยค่ะ สิ่งที่สำคัญคือให้ระวังกลิ่นฉุนต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อลูก เพราะลูกยังไม่สามารถหลีกหนีจากกลิ่นไม่พึงประสงค์เหล่านั้นได้
4. รสสัมผัส การใช้ลิ้น
ในช่วงแรกเกิดการใช้ลิ้นของลูกนั้นจะเป็นในเรื่องของการสัมผัสมากกว่าในเชิงรสชาติ แต่หลังจากได้กินนมก็จะสามารถรับรู้ถึงรสชาติของน้ำนมได้แล้ว รสชาติที่ลูกชอบที่สุดคือนมแม่
5. ผิวสัมผัส
ทารกมีความไวต่อสิ่งที่มาสัมผัสทางผิวหนังเป็นอย่างมาก คุณพ่อคุณแม่ลองใช้นิ้วเขี่ยลงบนฝ่ามือของทารกดูสิคะ เค้าจะรีบกำนิ้วมือของคุณทันที หรือลองใช้นิ้วเขี่ยเล่นที่ปากและแก้มของลูก เขาก็จะขยับและหันหาเช่นกัน นอกจากนี้การที่คุณพ่อและคุณแม่ได้อุ้มหรือโอบกอดลูก เขาจะสัมผัสได้ถึงการโอบกอดที่มีความอบอุ่นและสบายใจ
ตั้งแต่แรกเกิดสมองและประสาทสัมผัสทุกส่วนของลูก จะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เช่น เพียงแค่ 2 สัปดาห์แรกลูกจะรู้ทันทีว่าใครเป็นคนเลี้ยง ถ้าเปลี่ยนคนเลี้ยงลูกก็จะรู้เช่นกัน ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรทำความเข้าใจลูกตั้งแต่แรกเกิด และ คอยช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัสต่าง ๆ ให้ลูกอยู่เสมอ เพื่อพัฒนาการที่สมบูรณ์ของลูกค่ะ
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ