เคล็ดลับการปั๊มนมแม่ ที่เราแนะนำดังต่อไปนี้ เป็นวิธีที่ช่วยให้น้ำนมของคุณแม่ออกง่าย และไม่ทำให้เต้านมของคุณแม่มีอาการเจ็บปวด ง่ายต่อการให้นมลูก ลองทำตามคำแนะนำเหล่านี้ดูนะคะ
18 เคล็ดลับการปั๊มนมแม่ ช่วยให้น้ำนมออกง่าย ไม่เจ็บเต้านม
1. กำหนดเวลาการให้นม และ การปั๊มนมให้ตรงเวลา ปั๊มในเวลาเดียวกัน นั่งปั๊มในที่เดียวกัน สภาพแวดล้อมเหมือน ๆ กัน การให้นมและการปั๊มนมจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. ใช้เวลาสัก 2-3 นาที ก่อนการปั๊มนม ด้วยการนวดหน้าอก ใช้มือของคุณวางนาบบริเวณเต้านม และขยับมือหมุนวน การนวดหน้าอกก่อนการปั๊มจะทำให้เลือดลม และ น้ำนมไหลเวียนดี เป็นสิ่งที่คุณแม่ควรจะทำทุกครั้งก่อนการให้นม และการปั๊มนมค่ะ
3. ดื่มน้ำสัก 2-3 แก้ว ก่อนการปั๊มนม หรือ ให้นมลูก
4. ปล่อยจิตใจให้สบาย เมื่อถึงเวลาให้นมลูก หรือ ปั๊มนม เมื่ออารมณ์ของคุณผ่อนคลาย น้ำนมจะไหลดีกว่าตอนที่อารมณ์ของคุณขุ่นมัวค่ะ
5. มองหน้าลูก และ ภาพของลูกขณะให้นมลูก หรือ ปั๊มนมให้ลูก จะทำให้คุณแม่มีกำลังใจ และน้ำนมจะไหลดีค่ะ
6. ถ้าต้องไปทำงานและต้องปั๊มนมไปด้วย ควรโทรหาลูกทุกครั้งสอบถามกับคนเลี้ยงว่าลูกกำลังทำอะไรอยู่ คุณแม่จะได้มีกำลังใจปั๊มนมให้ลูกค่ะ
7. ฟังเพลงไปด้วยขณะปั๊มนม ถ้าต้องให้นมลูกหรือต้องปั๊มนมควรเปิดเพลงฟังไปด้วยเพื่อความผ่อนคลาย และเพลิดเพลินในอารมณ์ค่ะ
8. ถ้ามีอาการเจ็บหัวนม ให้ลดการปั๊มนมลงเพื่อให้อาการเจ็บหัวนมบรรเทาลงก่อนค่ะ แล้วค่อยเริ่มกลับมาปั๊มใหม่ให้เหมือนเดิมอีกครั้งค่ะ
9. ถ้ามีอาการปั๊มนมบ่อย ๆ แล้วเจ็บหัวนม ให้ใช้น้ำนมของคุณแม่ทาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวด แต่ถ้าไม่ดีขึ้นให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่ประคบหรือดูแลหน้าอก หรือ ครีมบำรุงเพื่อให้ผิวบริเวณนั้นไม่แห้งตึงจนเกินไปค่ะ
10. ถ้าคุณแม่เป็นพวกที่มีปัญหาน้ำนมน้อย ก็ควรต้องเพิ่มรอบในการปั๊มนมให้มากกว่าคุณแม่ท่านอื่น และอาจต้องเหนื่อยกว่าคนอื่นอีกนิดค่ะ หรือต้องให้ลูกช่วยดูดกระตุ้นบ่อย ๆ จะดีขึ้นค่ะ
11. เน้นการปั๊มนมให้ช่วงเช้า ในตอนเช้าน้ำนมจะไหลดีที่สุด ดื่มน้ำตอนเช้าเยอะ ๆ และเริ่มปั๊มนมให้ตรงเวลา คุณจะได้นมในปริมาณที่มากกว่าเวลาอื่นค่ะ
12. ถ้าปั๊มนมด้วยเครื่องให้ลูกอย่างเดียว ควรเลือกเครื่องปั๊มที่ดีและมีประสิทธิภาพ ตรวจสอบการใช้งานอย่างสม่ำเสมอ ว่ายังใช้งานได้ปกติ เพราะถ้าเครื่องปั๊มมีปัญหาอาจทำให้ การปั๊มนมเป็นเรื่องยาก บางทีปั๊มตลอดแต่น้ำนมก็ไม่ออกเท่าที่ควรค่ะ
13. ถ้าปั๊มจากเครื่องไม่ได้ ก็ให้บีบคั้นจากมือแทนค่ะ คุณแม่บางคนถนัดบีบด้วยมือแถมน้ำนมยังออกเร็วออกเยอะ ออกพุ่งกว่าการใช้ เครื่องปั๊มซะอีกนะคะ
14. การใช้เครื่องปั๊มนมแบบคู่จะทำให้น้ำนมไหลดีกว่า การปั๊มทีละข้าง และทำให้หน้าอกมีขนาดใหญ่เท่ากัน การหมุนเวียนเลือดก็ดีกว่าการปั๊มทีละข้าง แถมยังไม่เสียเวลาในการปั๊มนมด้วยนะคะ
15. ถ้าเครื่องปั๊มที่ใช้อยู่ปั๊มไม่ค่อยดี หรือน้ำนมออกน้อย ควรลองเปลี่ยนที่ปั๊มใหม่ ให้มีขนาดแตกต่างกัน เพราะหน้าอกของคุณแม่แต่ละคน มีขนาดและสภาพไม่เหมือนกัน การเปลี่ยนที่ปั๊มอาจทำให้น้ำนมของคุณแม่ไหลดีขึ้นค่ะ
16. เสื้อผ้าก็เป็นอุปกรณ์ชิ้นหนึ่งที่สำคัญ ในการปั๊มนม ควรสวมเสื้อผ้าที่สบายตัว หลวม ๆ เปิดเผยได้ง่าย เสื้อที่สวมควรเปิดขึ้นด้านบนได้ง่าย เพื่อสะดวกต่อการปั๊มนมค่ะ
17. ใส่เสื้อผ้าแบบเปิดขึ้นได้ สวมใส่เสื้อชั้นในที่รองรับแผ่นซับน้ำนม เพื่อป้องกันอาการน้ำนมหยดลงบนเสื้อผ้าหลังปั๊มนมค่ะ
18. ปั๊มด้วยเครื่องให้ปั๊มเป็นคู่ ๆ แต่ถ้าปั๊มด้วยมือต้อง ปั๊มทีละข้าง ค่อย ๆ นวดและบีบไปเรื่อย ๆ ค่ะ คุณแม่บางคนบีบนมด้วยมือได้ปริมาณน้ำนมเยอะกว่าคุณแม่ที่ใช้เครื่องปั๊มด้วยนะคะ ลองศึกษาการบีบนมด้วยมือให้ลูก ได้จากพยาบาล หรือ ทางอนามัย หรือ สื่อทางอินเตอร์ได้เลยนะคะ
การเก็บรักษาน้ำนมที่ปั๊มมาได้ก็สำคัญ มีวิธีการเก็บรักษาดังนี้ค่ะ
- หากอยู่ในห้องที่อุณหภูมิมากกว่า 25 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้ 1 ชั่วโมง
- หากอยู่ในห้องที่อุณหภูมิน้อยกว่า 25 องศาเซลเซียส สามารถเก็บไว้ได้ 4 ชั่วโมง
- หากเก็บไว้ในกระติกน้ำแข็ง สามารถเก็บไว้ได้ 1 วัน
- หากเก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา สามารถเก็บได้ 2-3 วัน
- สำหรับตู้เย็นช่องแช่แข็งแบบประตูเดียว สามารถเก็บได้ 2 สัปดาห์
- สำหรับตู้เย็นช่องแช่แข็งแบบประตูแยก สามารถเก็บได้ 3 เดือน
การปั๊มนมแม่ ไม่ใช่เรื่องยาก สามารถทำด้วยการบีบด้วยมือ หรือ ใช้เครื่องปั๊มน้ำนม โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปั๊มนมคือช่วงเช้ามืด ประมาณตี 5 – 7 โมงเช้า เพราะในช่วงเวลานี้ร่างกายของคุณแม่สามารถผลิตน้ำนมได้มากที่สุดจึงเหมาะแก่การทำสต็อกน้ำนมแม่เก็บไว้ค่ะ
การปั๊มนมในระยะแรกคุณแม่อาจจะปั๊มน้ำนมออกมาไม่ได้มาก แต่ก็ขอให้คุณแม่ทำอย่างสม่ำเสมอทุกวันน้ำนมก็จะไหลออกมาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เองค่ะ
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ