fbpx
Homeผู้หญิงอาการตาบอดสี เป็นอย่างไร? เช็กด่วน ดวงตาของคุณผิดปกติหรือเปล่า

อาการตาบอดสี เป็นอย่างไร? เช็กด่วน ดวงตาของคุณผิดปกติหรือเปล่า

ตาบอดสี หรือ (Color Blindness) คือภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถมองเห็นสีบางสี หรือแยกแยะสีได้อย่างถูกต้อง ตาบอดสีส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ซึ่งสีที่ผู้ป่วยมักจะสับสนก็คือ สีแดง สีเขียว และสีส้ม แต่ในบางรายอาจมีภาวะบอดสีทุกสี ซึ่งจะมองเห็นเพียงแค่สีขาว และสีดำเท่านั้น แต่ภาวะนี้มักพบได้น้อยมาก อาการตาบอดสี เป็นอย่างไร สาเหตุเกิดจากอะไร มาลองเช็คดูว่าคุณมีอาการตาบอดสีซ่อนอยู่หรือเปล่า

อาการตาบอดสี มีสาเหตุมาจากอะไร

ตาบอดสีเกิดจากความบกพร่องของเซลล์รับรู้การเห็นสี ในดวงตามีการทำงานที่ผิดเพี้ยนไปทำให้สีที่เห็นไม่ตรงกับความเป็นจริง สาเหตุของอาการตาบอดสี เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งก็มีตั้งแต่กำเนิด และเป็นภายหลัง โดยสาเหตุที่พบได้หลักก็จะมีดังนี้

  • ตาบอดสีจากกรรมพันธุ์ หรือตาบอดสีตั้งแต่กำเนิด พบได้มากสุด โดยอาการที่พบบ่อยคือ บอดสีแดง และสีเขียว โดยภาวะนี้จะพบในเพศชาย7% และในเพศหญิงประมาณ 0.4%
  • โรคเกี่ยวกับดวงตาเช่น โรคต้อหิน โรคจอประสาทตาเสื่อม โรคต้อกระจก
  • อายุที่เพิ่มขึ้นส่งผลทำให้เกิดการเสื่อมของเซลล์ไปตามวัย ทำให้เกิดอาการตาบอดสีได้เช่นกัน
  • เกิดจากโรคเบาหวาน โรคพากินสัน และโรคอัลไซเมอร์
  • สาเหตุอื่นๆ ได้แก่ การได้รับอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนถึงดวงตา การได้รับสารเคมีเป็นระยะเวลานาน ผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคบางชนิดเช่นยา รักษาวัณโรคเป็นต้น

เช็กสิ! คุณมีอาการตาบอดสีหรือเปล่า

การตรวจสอบว่าเรามีอาการตาบอดสีหรือไม่ ทำได้ด้วยการตรวจเช็กจากแพทย์ หรือ จักษุแพทย์ โดยจักษุแพทย์จะวินิจฉัยโดยการใช้แผ่นภาพ ทดสอบตาบอดสี เพื่อดูความสามารถในการแยกแยะสี ซึ่งรูปแบบแผ่นที่ใช้ทดสอบก็จะมีหลายประเภทด้วยกัน แต่แผ่นที่ทดสอบตาบอดสีที่นิยมใช้จะมีอยู่ 2 แบบได้แก่

1.การเรียงเฉดสี (Color Arrangement)

จักษุแพทย์จะให้ผู้ป่วย ทดสอบตาบอดสี ด้วยการไล่เฉดสีที่กำหนดมาให้ โดยจะให้ไล่เฉดสีที่คล้ายกันให้อยู่ใกล้กันอย่างถูกต้อง ถ้าผู้ป่วยมีอาการตาบอดสี จะเกิดความสับสนในการเรียงสี และไม่สามารถเรียงสีได้อย่างถูกต้อง

2.แผ่นภาพอิชิฮะระ (Ishihara)

ในแต่ละภาพจะมีจุดสีที่แตกต่างกัน จักษุแพทย์จะให้ผู้ป่วยมองหาตัวเลขบนแผ่นภาพ หากผู้ป่วยมีภาวะตาบอดสี จะไม่สามารถบอกตัวเลขจากภาพได้อย่างถูกต้อง วิธีนี้จะช่วยคัดกรองผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่สามารถบอกถึงระดับความรุนแรงของ อาการตาบอดสี ได้

ตาบอดสี ส่งผลกระทบอย่างไรบ้าง

ภาวะตาบอดสีในผู้ป่วยแต่ละคนอาจมีอาการที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับชนิดของตาบอดสี การใช้ชีวิตประจำวันผู้ป่วยอาจมองเห็นสีที่ผิดเพี้ยนไปบ้าง ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากในการตัดสินใจเช่น ไฟแดง ไฟเขียว หรือถ้าใครมีภาวะตาบอดสีระดับรุนแรงจะทำให้มองเห็นสิ่งต่างๆ เป็นสีขาว สีดำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหลายๆ อย่างดังนี้

  • วัยเรียน ส่งผลกระทบต่อการเรียนวิชาศิลปะเพราะไม่สามารถแยกระดับสีได้
  • ทำให้เกิดความยุ่งยากในการตัดสินใจเมื่อเจอสัญญาณไฟจราจรที่เป็นไฟแดง ไฟเขียว
  • งานที่ผู้ป่วยที่มีอาการตาบอดสี ควรหลีกเลี่ยงได้แก่ งานด้านจิตรกร นักบิน ช่างอิเล็คโทรนิกส์ หรืองานที่ต้องใช้สีเป็นสัญลักษณ์สื่อถึงสิ่งต่างๆ
  • ผู้ที่มีอาการตาบอดสี สามารถเข้าสอบใบขับขี่ได้ หากสามารถบอกความต่างของสัญญาณไฟจราจรได้อย่างถูกต้อง และผ่านเกณฑ์ที่ทางเจ้าหน้าที่ประเมินอื่นๆ

ดูแลรักษาอย่างไร เมื่อตาบอดสี

การรักษาอาการตาบอดสี ในผู้ป่วยที่เกิดจากกรรมพันธุ์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยแพทย์จักษุอาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้แว่นตา หรือ ใช้คอนแทคเลนส์ที่มีเลนส์กรองแสงบางสีออกไป ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถมองเห็นสีได้ชัดเจนขึ้น แต่ไม่สามารถช่วยให้มองเห็นสีได้เหมือนคนปกติทั่วไป

แต่ในผู้ป่วยตาบอดสี ที่เกิดจากโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน จักษุแพทย์จะรักษาจากสาเหตุของโรค เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น และบรรเทาภาวะแทรกซ้อนทางสายตาให้ดีขึ้นอีกด้วย นอกจากนี้แพทย์จักษุยังแนะนำให้ผู้ป่วยใช้เทคนิคการจดจำตำแหน่ง หรือป้ายสัญลักษณ์แทนสี เช่นการจำตำแหน่งไฟจราจรจากบนลงล่าง จะทำให้ผู้ป่วยสามารถขับรถได้

สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองควรแจ้งครู และโรงเรียน เกี่ยวกับปัญหาอาการตาบอดสี เพื่อช่วยปรับสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะสม ช่วยให้เด็กสามารถเรียนรู้ได้ใกล้เคียงกับเด็กที่สายตาปกติมากขึ้น

วิธีการป้องกันตาบอดสี

อาการตาบอดสี ไม่สามารถป้องกันได้ แต่สามารถเลี่ยง หรือลดโอกาสทำให้เกิดขึ้นได้ตั้งแต่วัยเด็ก โดยคุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกๆ ไปทดสอบสายตาตั้งแต่อายุ 3 – 5 ขวบ หรือควรได้รับการตรวจวัดสายตาอย่างน้อย 1 ครั้งก่อนที่จะเข้าโรงเรียน สำหรับเด็กที่มีประวัติครอบครัวเป็นตาบอดสี ควรได้รับการตรวจสายตาอย่างสม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่วางแผนจะตั้งครรภ์ ควรไปปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะถ่ายทอดตาบอดสีสู่ทารกในครรภ์ หรือควรเข้ารับการตรวจทางพันธุกรรมจากแพทย์ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเกิด ภาวะตาบอดสีในอนาคต

อาการตาบอดสี เป็นภาวะบกพร่องทางการมองเห็นสีบางสี และไม่สามารถจำแนกแยกแยะสีได้อย่างถูกต้อง การมองเห็นสีที่ผิดเพี้ยนไป อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ เพราะฉะนั้นหากสงสัยว่ามีภาวะดังกล่าวไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อหาความผิดปกติและรับการรักษาหรือแก้ไขอย่างถูกวิธี

เรื่องอื่นๆ ที่เราแนะนำสำหรับคุณ

RELATED ARTICLES
- Advertisment -

Most Popular