นมแม่ คือ อาหารหลักของทารกแรกคลอดจนถึง 6 เดือน โดยไม่ต้องให้อาหารอื่นใดแก่ทารก หลังคลอดน้ำนมแม่อาจจะไม่ได้มาทันที จำเป็นต้องให้ทารกน้อยดูดกระตุ้นหลังคอลด ซึ่งทางโรงพยาบาลจะนำลูกน้อยมาดูดกระตุ้นให้ทุกชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ส่วนใหญ่นมแม่จะมาหลังจากคลอดประมาณวันที่ 3 ซึ่งคุณแม่แต่ละคนจะมาเร็วหรือช้าแตกต่างกันและจะมีน้ำนมสีเหลือง ๆ ข้น ๆ ไหลออกมาก่อน นมชนิดนี้เรียกว่า น้ำนมเหลือง (colostrum) เป็นหัวน้ำนมซึ่งมีสารอาหารจำพวกโปรตีนที่สร้างภูมิต้านทานต่อต้านเชื้อโรค(antibody) หลังจากนั้นน้ำนมปกติก็จะไหลมาทดแทน
การให้นมแม่มักจะเกิดปัญหาได้หลากหลาย แต่ไม่ได้ทำให้คุณแม่ท้อแท้ใจในการให้นมลูกใช่ไหมคะ มาดูกันว่าสารพันปัญหาการให้นมแม่และวิธีการแก้ไขนั้นมีอะไรบ้าง ติดตามอ่านค่ะ
7 ปัญหาการให้นมแม่ ที่แม่ให้นมลูกต้องเจอ พร้อมวิธีแก้ปัญหา
1.ลูกไม่ยอมดูดเต้า
ปัญหาโลกแตกที่อาจเกิดขึ้นได้ คำถามแรกคือ ลูกเคยดูดนมขวดหรือไม่ ถ้าเคย อาจเกิดจากการติดขวด เพราะดูดเร็ว ดูดง่าย สิ่งสำคัญในช่วง 3 – 4 สัปดาห์แรกหลังคลอดไม่ควรให้ทารกดูดนมจากขวด เพราะจะทำให้เค้าเกิดการติดขวดจนไม่ยอมดูดเต้าของแม่ เพราะไม่ทันใจก็เป็นได้ หรือบางทีดูดนมแม่แล้วแต่ไม่มีน้ำนม แบบนี้ต้องหมั่นให้ลูกน้อยดูดกระตุ้นทุก 2 – 3 ชั่วโมง ทั้งกลางวันและกลางคืน แม้ไม่มีน้ำนมไหลเพื่อกระตุ้นให้มีน้ำนมไหลออกมามากและเร็วขึ้น
2.ลูกอยากดูดนมตลอดเวลา
ตรงข้ามกับข้อแรกที่ลูกไม่ยอมดูดเต้าเลยนะคะ จริง ๆ แล้วทารกชอบดูดเต้าแม้จะอิ่มแล้ว เพราะเค้ารู้สึกสบายและผ่อนคลาย สังเกตง่าย ๆ ว่าลูกทำท่าดูดนมเฉย ๆ คือ ทำท่าดูดแต่ไม่แรงพอที่จะกลืนนม จังหวะนี้ควรให้ลูกหยุดดูดจะได้ไม่เคยชิน อาจเบี่ยงเบนด้วยวิธีการอุ้ม หรือตบก้นให้ซึ่งก็เป็นการผ่อนคลายเช่นกันค่ะ
3.ลูกกัดหัวนม
โอ๊ย ๆๆ บอกได้เลยค่ะว่าเจ็บจริง เจ็บจัง แต่คุณแม่ต้องพยายามไม่อุทานเสียงดังจนลูกตกใจนะคะ บอกลูกดี ๆ แต่หนักแน่นว่า “ไม่” บอกลูกค่ะว่าแม่เจ็บนะ อีกไม่นานเจ้าหนูจะเข้าใจว่า ทำแบบนี้ไม่ได้นะลูก
4.ลูกหลับเวลาที่ควรกินนม
วันแรก ๆ หลังกลับจากโรงพยาบาลทารกจะเอาแต่นอนทั้งวัน เพราะร่างกายยังอยู่ในช่วงการปรับสภาพกับโลกใบใหม่นอกครรภ์ของคุณแม่ ถ้าลูกแข็งแรงดีแต่ไม่ยอมตื่นมาดูดนม ไม่เป็นไรค่ะ รอให้ตื่นก่อนค่อยดูดนมก็ได้ แต่ก็อย่าปล่อยให้หลับนานจนเกินไปนะคะ ควรปลุกให้เข้าเต้าบ้าง ในช่วงที่ลูกหลับอยู่นี้คุณแม่อาจต้องปั๊มนมรอลูกนะคะ เพราะอาจเกิดอาการคัดเต้านมได้
5.ลูกดูดนมเท่าไรจึงจะพอนะ
คุณแม่หลายคนคงจะกังวลว่าลูกจะดูดนมอิ่มหรือไม่ แม่จะมีน้ำนมพอให้ลูกหรือไม่ วิธีสังเกตค่ะ ลูกจะไม่ร้องโยเย ดูดปกติ ดูดไปเรื่อย ๆ พออิ่มทารกจะถอนปากออกมาหรือบางคนก็อมเล่นแบบไม่ดูด นั่นคืออิ่มแล้ว สบายท้องแล้ว แต่ถ้าน้ำนมไม่พอทารกมักจะร้องไห้โยเยแสดงให้คุณแม่เห็นว่า หนูยังไม่อิ่มนะ หากคุณแม่มีน้ำนมน้อย นอกจากจะให้ลูกดูดกระตุ้นแล้ว ควรปั๊มนมหลังจากที่ลูกอิ่มแล้วอีกข้างละประมาณ 5 นาทีจะช่วยเรียกน้ำนมได้นะคะ
6.ท่อน้ำนมอุดตัน
แบบนี้คุณแม่ต้องปวดใจมากแน่ ๆ เวลาที่ให้นมลูกควรกระตุ้นให้ทากรกน้อยดูดนมจนเกลี้ยงเต้า และสวมใส่เสื้อชั้นในที่พอดีไม่เล็กจนเกินไป และก่อนให้นมควรเช็ดบริเวณเต้านมและหัวนมด้วยน้ำอุ่นเพื่อเปิดท่อน้ำนมก่อนการให้นม
7.เต้านมคัดมาก
ปัญหาเต้านมคัด เกิดจากการที่น้ำนมแม่ถูกสร้างขึ้นไว้เป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีการระบายออก คุณแม่อาจปล่อยทิ้งช่วงนานเกินไป หรือไม่มีการปั๊มออกในช่วงที่ลูกไม่ได้ดูด ส่งผลให้เกิดอาการคัด เต้านมจะบวม เจ็บ ลานนมตึงแข็ง ทำให้หัวนมสั้นลงจนลูกดูดไม่ได้ คุณแม่บางคนอาจเป็นไข้ได้เลยค่ะ
เมื่อมีอาการเต้านมคัด ให้คุณแม่ทำการประคบเต้านมด้วยผ้าอุ่นจัด นวดและคลึงเต้านมเบา ๆ จากฐานไปที่หัวนม บีบน้ำนมออกจนกว่าลานหัวนมจะนุ่มลง เพื่อให้ลูกงับลานหัวนมได้ง่ายขึ้น ให้ลูกดูดนมจนเกลี้ยงเต้า ประคบด้วยผ้าเย็นหลังจากให้นมเสร็จแล้ว จะช่วยบรรเทาอาการปวดคัดเต้านมได้เบื้องต้นค่ะ
ปัญหาจุกจิกสารพัดสารพันที่คุณแม่ให้นมส่วนใหญ่ต้องเจออย่างน้อยที่สุดไม่ต่ำกว่า 2 – 3 ข้อแน่ ๆ ได้ทราบแนวทางการแก้ปัญหาเพื่อช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาแล้วนะคะ อดทนและตั้งใจให้นมแม่ต่อไปเพื่อสุขภาพที่ดีของลูกน้อยค่ะ
เรื่องอื่นๆที่เราแนะนำสำหรับคุณ